posttoday

ตลาดทุนยุคท้าทาย ต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วน

01 กรกฎาคม 2561

เปิดแนวคิดการบริหารและหลักการทำงาน “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน

เปิดแนวคิดการบริหารและหลักการทำงาน “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน

*************************

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

เพิ่งจะมารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้เพียง 1 เดือน สำหรับ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่ 13 ดูเหมือนอาจจะเจอศึกหนักกันช่วงแรกจากการต้อนรับของดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากดัชนีเพิ่งจะทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง ตลท.ไปเมื่อต้นปี

ประเด็นนี้ไม่ได้สร้างความหนักใจให้กับเอ็มดีคนใหม่ เนื่องจากเขามองว่าหุ้นไทยปรับลงอย่างมีเหตุผลชัดเจนและเหมือนกันทั่วโลก อีกทั้งมาจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ตั้งแต่นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐ (เฟด)และที่ทุกฝ่ายกำลังจับตามากที่สุดคือ การตอบโต้สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ต้องติดตามดูว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมและส่งผลกระทบขยายวงกว้างไปขนาดไหน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ขณะที่ในประเทศกลับมีแต่ความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานที่เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจต่างปรับตัวดีขึ้น และยังเห็นได้ชัดว่าการลงทุนภาครัฐยังขยับขยายมากขึ้นในอนาคต ขยายผลสู่ภาคเอกชนกันต่อส่งออกดี กำลังซื้อเริ่มดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามในเรื่องการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ดี ผู้จัดการคนใหม่เน้นย้ำว่าสิ่งที่ท้าทายบนโลกนี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลักที่ใช้ในการทำงานคือ “ต้องเรียนรู้และรู้จักพัฒนาอยู่เสมอ”แม้ที่ผ่านมาเขาจะผ่านการทำงานทั้งในโลกตลาดเงินจากวงการแบงก์ ตำแหน่งก่อนมา ตลท.คือ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ และก้าวเข้าสู่โลกตลาดทุนกว่า 8 ปี ตำแหน่ง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสางานการเงินและบริหารเงินทุน

ทั้งนี้ ความแตกต่างกันระหว่างภาคการเงินกับตลาดทุนที่ชัดเจนคือ “การแยกบทบาทที่แตกต่างกันชัดเจน” การทำหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์คือ เป็นตัวกลางระหว่างคนที่อยากได้เงินระดมทุน แต่แบงก์คืองานต้องให้การบริการคนที่ต้องการกู้เงิน เมื่อก่อนเคยอยู่ในส่วนของหน่วยงานที่จะให้เงินระดมทุนได้ แต่ตอนนี้ต้องทำหน้าที่ในการเชื่อมระหว่างสองอย่างนี้ด้วยกัน และคอยทำหน้าที่โปรโมทเพื่อกระตุ้นให้เกิดผู้ที่เกี่ยวข้องต่างเกิดกิจการหรือการบริการที่มากขึ้น

“แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือ ‘ความเข้าใจในลูกค้า’ที่ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรและจะช่วยเขาได้อย่างไร ฉะนั้นเมื่อบทบาทเปลี่ยน ความท้าทายก็มากขึ้นต้องเรียนรู้และค่อยๆ พัฒนามากขึ้น มอง ตลท.เป็นผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐาน แล้วเชื่อมโยงระหว่างคนในอุตสาหกรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกัน และดึงพวกเขามาร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน”

อย่างไรก็ดี มองว่าโลกกำลังเข้าสู่การท้าทายอย่างมาก และสิ่งที่ ตลท.ต้องรับมือกับมันมีอยู่ 4เรื่องใหญ่ คือ หนึ่ง ตลท.ต้องเป็นคนสร้างให้เกิดการดำเนินการต่างๆ ขึ้น (แอ็กชั่น) โดยผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดกิจรรมต่างๆ ของมีผู้ส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม สอง ปัจจุบันตลาดทุนค่อนข้างถูกกระทบจากปัจจัยทั่วโลก ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งถือเป็นยุคที่รวมคนหลายเจเนอเรชั่นมาก ซึ่งวิธีการคิดแต่ละช่วงวัยอายุจะมีความหลากหลายมากในการใช้ข้อมูล และเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะในตลาดทุน จึงต้องนำเรื่องบิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้

สาม ปัจจุบันตลาดทุนเชื่อมต่อกับทั่วโลกมากขึ้นและยังต้องเกี่ยวข้องกับฝ่ายกำกับของต่างประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ในมุมของธุรกิจแบงก์โลกการเชื่อมต่อหรือการแข่งขันน้อยอาจน้อยกว่าตลาดทุน และสี่ ปัจจุบันภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดทุนมากขึ้น โดยมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากขึ้น เห็นได้จากใช้ตลาดทุนในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสตาร์ทอัพ

จากนี้ก็ต้องติดตามดูบทบาทของผู้จัดการคนใหม่ที่ถือว่ามีความท้าทายที่รออยู่ไม่น้อยกับการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยในปัจจุบัน

ตลาดทุนยุคท้าทาย ต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วน

กลยุทธ์ดันตลาดหุ้นไทยเท่าสิงคโปร์

“ภากร ปีตธวัชชัย” ปัจจุบันอายุ 54 ปี ได้รับการอนุมัติแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่13 โดยมีวาระ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561-31 พ.ค. 2565

จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จบชั้นมัธยมปลายจากเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรีวิศวะไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปริญญาโทบริหารธุรกิจ ด้านการเงิน จาก University of Wisconsin แห่งสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกบริหารธุรกิจ (Finance and Economic) จาก Boston University สหรัฐอเมริกา

เริ่มทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์จนได้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานบริหารการเงิน และเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จากนั้นมาทำงานที่ ตลท.ในตำแหน่งหัวหน้าสายงานการตลาด หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินทุนก่อนจะขึ้นมาเป็นผู้จัดการ

แผนงานกลยุทธ์หลักที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าภายในปี 2566 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าหลักทรัยพ์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) จะต้องเทียบเคียงเท่ากับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ให้ได้ จากปัจจุบันไทยอยู่ที่ 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 8.5 แสนล้านดอลลาร์

แนวทางการดำเนินงานที่จะไปสู่เป้าหมายมีอยู่ 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ

*สร้างจุดเปลี่ยน เปิดโอกาสให้ทุกคนในอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงฟินเทคและสตาร์ทอัพต่างๆ

*เสริมจุดปรับ พัฒนาบุคลากรในองค์กรโดยปรับมุมมองและทัศนคติเพื่อบริการและทำหน้าที่ให้ดีสุด พร้อมนำเทคโนโลยีมาร่วมใช้กับการทำงานเกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น

*ชูจุดขาย ยกระดับความสามารถการแข่งขันตลาดทุนไทยบนเวทีโลก พร้อมเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยกเป็นระดับภูมิภาคเพื่อดึงดูดสายตาของนักลงทุนทั่วโลก เช่น กลุ่มซีแอลเอ็มวี กลุ่มอาเซียน

*คงจุดยืน ตลท.ต้องเป็นแกนหลักที่จะช่วยผลักดันให้ตลาดทุนอยู่ในระบบนิเวศการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน