posttoday

ก.ล.ต.คาดสรุปไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์-ดูแลดสกุลดิจิทัลเดือนมี.ค.

08 กุมภาพันธ์ 2561

ก.ล.ต.เตรียมสรุปแนวทางกำกับดูแล "ไอซีโอ" ที่เป็นหลักทรัพย์ และ การดูแลสกุลเงินดิจิทัลในเดือนมี.ค.นี้

ก.ล.ต.เตรียมสรุปแนวทางกำกับดูแล "ไอซีโอ" ที่เป็นหลักทรัพย์ และ การดูแลสกุลเงินดิจิทัลในเดือนมี.ค.นี้

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า “ก.ล.ต. เตรียมเสนอผลการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลภายในเดือนมีนาคม 

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้ต่าง ๆ สำหรับการวางแนวทางดูแลคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อเสนอต่อคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ ก.ล.ต. ต่อไปภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ ไอซีโอเป็นวิธีการระดมทุนโดยการออกดิจิทัลโทเคน ซึ่งผู้สนใจลงทุนจะต้องมีคริปโตเคอเรนซี่เพื่อซื้อดิจิทัลโทเคนดังกล่าว  ดังนั้น แม้ไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี่จะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ก็มีความเกี่ยวโยงกัน แนวทางการกำกับดูแลไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี่จึงจำเป็นต้องสอดรับกันด้วย

ขณะนี้มีทั้งผู้สนใจระดมทุนและลงทุนในไอซีโอมากขึ้น  ก.ล.ต. จึงเห็นความจำเป็นของการสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลไอซีโอโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตอาศัย ICO เป็นช่องทางหลอกลวงเงินจากประชาชน เพิ่มความโปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ระดมทุนที่สุจริตและผู้ลงทุน 

ก.ล.ต. ขอย้ำว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลไอซีโอ ผู้ลงทุนในไอซีโอจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและการเยียวยาตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ การลงทุนในไอซีโอเป็นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งแม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเงินลงทุนทั้งจำนวน ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจโครงการที่มาระดมทุน ผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนมีสิทธิได้รับจากดิจิทัลโทเคน โครงสร้างการกระจายดิจิทัลโทเคน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความผันผวนของราคาและการขาดสภาพคล่องในการซื้อขายดิจิทัลโทเคน ตลอดจนโอกาสถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้มีเจตนาทุจริตด้วย 

นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ระดมทุนอาจปรับปรุงข้อมูลในเอกสารประกอบการเสนอขายไอซีโอ (white paper) ได้เสมอ ผู้ลงทุนจึงควรติดตามการเปิดเผยข้อมูลในเอกสารดังกล่าวเป็นระยะด้วย