posttoday

รีวิวผลิตภัณฑ์ตลาดทุน : กองทุนหุ้นเวียดนาม

18 มกราคม 2561

ถนนทุกสายมุ่งสู่เวียดนาม ทั้งการลงทุน โดยตรง และการลงทุนในตลาดหุ้น ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

โดย...พูลศรี เจริญ

ถนนทุกสายมุ่งสู่เวียดนาม ทั้งการลงทุน โดยตรง และการลงทุนในตลาดหุ้น ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโต 6-7% ต่อปี ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า (ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560)

สำหรับการลงทุนในหุ้นเวียดนามนั้น ปัจจุบันมีบริษัทจัดการลงทุนบ้านเราได้ออกกองทุนเพื่อลงทุนในหุ้นเวียดนามหลายเจ้า ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง 2 กองทุน ที่มีผู้จัดการกองทุนบ้านเราบริหารพอร์ตและคัดเลือกหุ้นที่ลงทุนด้วยตัวเอง

ตัวอย่างแรก กองทุนเปิดแอสเซทพลัส เวียดนาม โกรท ฟันด์ (ASP-VIET) ที่เสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) ระหว่างวันที่ 16-26 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนอย่างดี ส่งผลให้ปิดการเสนอขายได้ก่อนกำหนด โดยสามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนได้ประมาณ 2,200 ล้านบาทซึ่งเต็มมูลค่าโครงการ

กองทุน ASP-VIET เป็นกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส เป็นกองทุนตราสารทุน ระดับความเสี่ยง 6 มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีธุรกิจหลักในเวียดนามที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต สามารถผสมผสานทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามโดยตรงผ่านการคัดเลือกหุ้นรายตัวโดยผู้จัดการกองทุนของ บลจ.แอสเซท พลัส

นอกจากนี้ จะลงทุนผ่านหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) และลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ ที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน เหมาะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถรับความผันผวนสูงจากตลาดหุ้นต่างประเทศได้ ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนสูงระยะยาวจากการเติบโตของตลาดหุ้นเวียดนามในอนาคต

กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (CIMB-PRINCIPAL VNEQ) เป็นกองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ที่โชว์ความสำเร็จด้วยการปิดไอพีโอได้ตามเป้าหมายที่ 1,485 ล้านบาท ในเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา

สำหรับกองทุน CIMB-PRINCIPAL VNEQ มีจุดเด่นที่เป็นกองทุนกองแรกเข้าลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นเวียดนาม โดยมีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียน หรือมีธุรกิจหลักในประเทศเวียดนามที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต รวมถึงสามารถลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ ตราสารทุนต่างประเทศ รวมเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ก่อนคลอดกองทุนเวียดนาม ทีมจัดการลงทุนของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ได้ใช้เวลาพอสมควรในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนาม การเข้าเยี่ยมชมบริษัท การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน คัดเลือกหุ้นรายตัวจากพื้นฐานของบริษัท

ทั้งนี้ เวียดนามเป็น 1 ใน 16 ประเทศ จากทั้งหมดกว่า 200 ประเทศ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเกินกว่า 6% ต่อปี ในช่วง 5 ปีนับจากนี้

การที่เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) เมื่อปี 2550 ได้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) เข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้า รวมถึงการทำข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) กับกลุ่มประเทศอื่นๆ ส่งผลดีต่อการยกระดับประเทศเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม

ในขณะที่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางและการขยายตัวของสังคมเมือง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการเพิ่มอัตราการบริโภคภาคประชาชนและการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ มีปัจจัยเสริมด้านการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม เช่น การปรับลดข้อจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติ หรือ Foreign Ownership Limit (FOL) ในหลักทรัพย์บางกลุ่ม ทำให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 49% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด และโอกาสที่ตลาดหุ้นเวียดนามจะถูกย้ายไปคำนวณใน MSCI Emerging Market ภายในปี 2563 ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง