posttoday

ทุนจีน ไม่ควรถูกมองข้าม

15 มกราคม 2561

ปัจจุบันประเทศจีนมีการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะขยายลงมาทางตอนล่างอย่างกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง 

ปัจจุบันประเทศจีนมีการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะขยายลงมาทางตอนล่างอย่างกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นตามนโยบายวันเบลต์วันโรด ทำให้เห็นการขับเคลื่อนนักลงทุนจีนที่ขยายการลงทุนในไทยทั้งการลงทุนโดยตรง การเข้ามาซื้อกิจการ การมาตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมืองไทย

ทุนจีน ไม่ควรถูกมองข้าม ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ซีแอลเอสเอ

“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ซีแอลเอสเอ เปิดเผยว่า ปี 2561 เป็นปีที่จะเห็นการซื้อกิจการหรือการร่วมทุนกันมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจากประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น หรือจีน เพียงแต่ว่าหลายการเจรจาที่เกิดขึ้นยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสินทรัพย์ในไทยยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายครั้งที่สินทรัพย์ในประเทศอื่นอย่างในยุโรปยังมีราคาที่ถูกกว่าในไทย

แต่ที่น่าสังเกตคือ เริ่มเห็นกลุ่มธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น อย่างบริษัทแม่ของซีแอลเอสเอ ซึ่งอยู่ที่จีน ก็มีการให้บริษัทลูกในหลายธุรกิจเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่บริษัทซิติก คอนสตรัคชั่น มาตั้งออฟฟิศในเมืองไทย หรือบริษัท ซิติก เทเลคอม ซื้อกิจการเกี่ยวกับโทรคมนาคมขนาดเล็กที่ทำ
ไฟเบอร์ออปติก และบริษัท ซิติก แปซิฟิก ที่เข้ามาทำเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ หรือจากที่เห็นบริษัทจีนเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย เช่น บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สัญญาที่ 1

“สาเหตุที่จีนกล้าเข้ามาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศอาจจะไปได้ยาก อีกทั้งจีนต้องการหาเพื่อนและขยายอำนาจเบาๆ (ซอฟต์เพาเวอร์) กับประเทศต่างๆ โดยนำทรัพยากรภายในมาทำการค้า และภูมิภาคที่ต้องการเข้ามาลงทุนลำดับแรกคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และไทยเป็นประเทศแรก เพราะมีภูมิศาสตร์ที่ดี โดยไม่ได้แคร์ว่าต้องมีกำไรมาก แต่อย่าให้ขาดทุนและต้องการสร้างเพื่อนมากกว่า”

ขณะเดียวกันยังเห็นธุรกิจจีนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างกลุ่มซิติกเข้าไปซื้อหุ้นในพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากนั้นยังเข้าไปลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยว ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท ปักกิ่ง คอนสตรัคชั่น มาลงทุนร่วมกันกับบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ในโครงการก่อสร้างอสังหาฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ ช่วงปลายเดือน ม.ค. ทางรัฐบาลได้ชวนนักลงทุนจีนกว่า 200 ราย มาร่วมงานสัมมนาและชวนลงพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้แก่นักลงทุนจีนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหรืออุตสาหกรรมใหม่ เพื่อศึกษาดูงานในพื้นที่จริงก่อนตัดสินใจลงทุน

ทุนจีน ไม่ควรถูกมองข้าม แมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย

“แมนพงศ์ เสนาณรงค์” กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองเช่นเดียวกันว่า ปีนี้จะเห็นการเจรจาซื้อกิจการหรือการร่วมทุนธุรกิจมากขึ้น แต่ผลการเจรจานั้นจะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นมาประกอบด้วย แต่เหตุผลหลักของการเจรจาน่าจะเกิดจาก “ความท้าทายของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป” ทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องมีการขยับตัวและปรับกลยุทธ์ เช่น การทำการตลาดแบบดิจิทัลเพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและแข็งแกร่งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเจรจาและซื้อกิจการที่เกิดขึ้น เพื่อต้องการนำองค์ความรู้หรือความเชี่ยวชาญจากธุรกิจที่ซื้อกิจการหรือร่วมทุนกัน (โนว์ฮาว) มาปรับเป็นกลยุทธ์เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันและขยายการเติบโตต่อไปได้ แต่การที่จะเน้นเป็นกลุ่มทุนจากประเทศจีนหรือไม่นั้น ยังไม่เห็นสัญญาณจากลูกค้าของ บล. แต่ไม่ทราบในส่วนของลูกค้าแบงก์กสิกรไทยเพราะเป็นคนละส่วนกัน แต่ในเชิงความเป็นไปได้คือบางบริษัทอาจต้องการขยายการตลาดไปสู่ประเทศจีนมากขึ้น เพราะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ มีจำนวนประชากรที่สูงสุดในโลก และถือเป็นประชากรที่มีกำลังซื้อที่สูงในปัจจุบัน” แมนพงศ์ กล่าว

สำหรับภาคตลาดทุนเองนั้น ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ร่วมกับองค์กรเอกชนต่างๆ ที่เสิ่นเจิ้นได้เชิญให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปเยี่ยมชมการเปลี่ยนแปลงที่เสิ่นเจิ้น และได้มีการแนะนำให้ผู้ลงทุนจีนเข้าใจถึงภาวะการลงทุนและผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนไทยที่หลากหลายและมีสภาพคล่องที่ดี จะช่วยทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงหรือบริหารสินทรัพย์ที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมารู้จักไทยเพียงแต่เฉพาะการท่องเที่ยว ทำให้ ตลท.ต้องกลับมาปรับแผนการลุยไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) การเคาะประตูต่างประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อลุยแนะนำและขยายการลงทุนผู้ลงทุนหน้าใหม่ให้รู้จักตลาดทุนไทยมากขึ้น นั่นหมายถึงประเทศจีนด้วย

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจ ณ เดือน พ.ค. ของฝ่ายวิจัย ตลท. ระบุว่า มูลค่าการถือครองหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนเอเชียอยู่ที่ 1.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.88% จากปี 2559 หรือคิดเป็น 36.4% ของมูลค่าการถือครองนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม

ถ้ามองเป็นกลุ่มอาเซียน นักลงทุน 3 อันดับแรกที่ถือครองหุ้นไทยคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และหากดูจากนอกกลุ่มอาเซียน 3 อันดับแรกคือ ญี่ปุุ่น ฮ่องกง และจีน โดยนักลงทุนจีนมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แม้อาจจะเป็นปริมาณที่ยังน้อยอยู่ แต่หากเทียบกับ 2 ประเทศแรกมีสัดส่วนที่คงที่หรือปรับลดลงสลับปีกันไป