posttoday

ดึงภาคการเงิน3ฝ่ายร่วมตั้งอนุกรรมการฟินเทค

29 พฤศจิกายน 2560

ก.ล.ต.เสนอตั้งอนุกรรมการฟินเทค หวังช่วยขับเคลื่อน พ.ร.บ.ใหม่ แก้ปัญหางานกระจุกที่คณะกรรมการ

ก.ล.ต.เสนอตั้งอนุกรรมการฟินเทค หวังช่วยขับเคลื่อน พ.ร.บ.ใหม่ แก้ปัญหางานกระจุกที่คณะกรรมการ

นางทิพย์สุดา ถาวรามร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ความท้าทายการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฟินเทค อยู่ที่ภารกิจความรับผิดชอบทุกอย่างมาอยู่ที่คณะกรรมการส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งอยากให้มีการตั้งสำนักงานขึ้นมารับผิดชอบ

ดังนั้น หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการภายใน 90 วัน โดยให้มีตัวแทนจากฝ่ายกำกับดูแลภาคการเงินทั้ง 3 หน่วยงาน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

นายบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า เรื่องสำคัญใน พ.ร.บ.ฟินเทค คือ การยืนยันตัวตน แม้จะใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่ต้องคิดถึงหลักสากล 2 ข้อ คือ ลูกค้ายืนยันตัวเอง และผู้ประกอบการต้องยืนยันข้อมูลให้แน่ใจว่าลูกค้าคือคนคนนั้นจริง และ 2.ข้อมูลที่ให้มาถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต โดย ธปท.เปิดกว้างทางเทคโนโลยี ซึ่งมีทั้งแบงก์และนันแบงก์ขออนุญาตใช้ไบโอเมตริกซ์ยืนยันตัวตน และวิธีการยืนยันข้อมูลที่ถูก เมื่อมีดิจิทัล ไอดี ธปท.ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการดังกล่าวด้วย

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายฟินเทค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ฟินเทค เกิดขึ้นเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดจากกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น ธุรกรรมใดที่ทำด้วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอิเล็กทรอนิกส์หรือเทคโนโลยีอื่นใด กฎหมายนี้จะรองรับได้และเป็นหลักฐานทางศาลได้ด้วย การมีกฎหมายให้หน่วยงานที่เก็บข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการทำดิว ดิลิเจนท์ด้วย การเปิดให้สามารถยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องแสดงตัว เป็นต้น

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในชั้นการเสนอต่อประธาน สนช.ในขั้นต่อไป จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีด้วย แต่เนื่องจากกฎหมายนี้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้เสนอ จึงคาดว่าจะเร็ว