posttoday

ธุรกิจหลักทรัพย์ โอกาสโตยังมี

11 กันยายน 2560

ธุรกิจหลักทรัพย์กลับมามีทิศทางที่สดใสขึ้นทันทีหลังดัชนีหุ้นไทยพลิกกลับมายืนเหนือระดับ 1,600 จุด

โดย...ยินดี ฤติวุรุฬห์

ธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.) กลับมามีทิศทางที่สดใสขึ้นทันทีหลังดัชนีหุ้นไทยพลิกกลับมายืนเหนือระดับ 1,600 จุดในช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่ดัชนียังคงยืนเหนือ 1,644.83 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขายต่อวันที่มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปริมาณการซื้อขายต่อวันที่มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท จะเป็นแรงขับให้รายได้และกำไรของผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ในงวดไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นแน่นอน และทำให้ผู้ประกอบการมีความหวังมากขึ้น

ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีแรกและงวดไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บล.ทั้งระบบมีกำไร อ่อนตัวลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดย บล.ที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 11 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 508 ล้านบาท ลดลง 60% จาก 814 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 1,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จาก1,458 ล้านบาท จากตลาดหุ้นโดยรวมไม่คึกคัก แถมยังเจอการแข่งขันที่รุนแรงจากการเข้าสู่ระบบของผู้ประกอบการรายใหม่

ธุรกิจหลักทรัพย์ยังน่าสนใจและเป็นอย่างไร โพสต์ทูเดย์มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส ที่นั่งในตำแหน่งนายกสมาคมมานานกว่า 7 ปี และเห็นการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมตั้งแต่การเริ่มเปิดเสรีแบบขั้นบันได จนมาถึงเปิดเสรีเต็มรูปแบบและกำลังเข้าสู่การนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาใช้หนักมากขึ้น มีความเห็นอย่างไร 

ภัทธีรา ระบุว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ยังน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตในอนาคตเพราะนักลงทุนตื่นตัวในการลงทุน และฐานนักลงทุนก็จะกว้างขึ้นเพราะประชาชนและนักลงทุนต่างตระหนักดีว่าการลงทุนในตลาดหุ้นคือโอกาสที่จะสร้างความมั่นคงในอนาคต ซึ่งด้วยปัจจัยแบบนี้จะทำให้ฐานการลงทุนในอนาคตเติบโตขึ้น แต่การทำธุรกิจนั้น บล.แต่ละแห่งจะต้องมีพื้นที่เฉพาะของตัวเองว่าจะเลือกที่จะเป็นโบรกเกอร์แบบไหน จะเป็นโบรกเกอร์ที่จะทำหน้าที่นายหน้าซื้อขายหุ้น หรือจะเป็นโบรกเกอร์ที่จะเน้นในเรื่องของการบริหารเงิน (Wealth Management) คือจัดการลงทุนให้กับลูกค้าในทุกๆ รูปแบบ ซึ่งทั้งสองลักษณะนอกจากจะสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนแล้ว ยังเป็นหนทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ บล.ด้วย

“ธุรกิจหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนผ่านมามากจากอดีตที่มีรายได้หลักจากนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (คอมมิชชั่น) ที่ 0.5% ของมูลค่าซื้อขายกว่า 90% เป็นรายได้หลัก เปลี่ยนมาสู่ยุคการเปิดเสรีแบบขั้นบันไดและสุดท้ายเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเห็นว่าผู้ประกอบการมีพัฒนาการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และหากดูโครงสร้างรายได้ตอนนี้จะเห็นว่ารายได้จากนายหน้าลดเหลือ 60% และมีรายได้อื่นๆ เข้ามาทดแทน ทั้งพอร์ตลงทุน รายได้จากที่ปรึกษา รายได้จากดอกเบี้ย และอนาคตก็จะมีเพิ่มขึ้นจากบริการทางการเงินที่จะมีความหลากหลายขึ้นไปอีก” นายกสมาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของเทคโนโลยีการเงินซึ่งในส่วนของธุรกิจ บล.ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่จะมีพัฒนาการที่จะมีเพิ่มมากขึ้นทั้งบล็อกเชน หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะเข้ามาและอนาคตในการซื้อขายหุ้นนั้นอาจจะเกิดขึ้นในแบบเรียลไทม์ และการที่ตลาดหลักทรัพย์จะมีระบบการชำระเงินแบบ T+2 ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการในการให้ความรู้และรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

“ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นติดกับดักตัวเองและครึ่งปีแรกสภาพโดยรวมไม่ดีนัก ปริมาณซื้อขายต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อ จากนี้จะดีขึ้นตามปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจที่เติบโตดีขึ้น จากการลงทุนและส่งออกที่เติบโต ซึ่งเรื่องท้าทายหลังจากนี้ก็จะอยู่ว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีความสามารถในการทำกำไรอย่างไร”