posttoday

ลุ้น "ไลฟ์" คลอด ดันลงทุนสตาร์ทอัพ

04 กันยายน 2560

เมื่ออีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในไทยเริ่มดีขึ้น เร็วๆ นี้คงได้เห็นการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยคึกคักขึ้นแน่นอน

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

หากพูดถึงแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพระดับโลก ต้องยกให้ “ซิลิคอนวัลเลย์” สหรัฐ เพราะที่นี่มีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ (อีโคซิสเต็ม) เอื้ออำนวยต่อการสร้างสตาร์ทอัพ

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสสตาร์ทอัพเริ่มมา ยิ่งรัฐบาลผลักดันใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นแรงหนุนให้คนสนใจทำสตาร์ทอัพและสนใจลงทุนในสตาร์ทอัพยิ่งขึ้น เร็วๆ นี้จะมีแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้ง หรือการระดมทุนผ่านพลังมวลชน ประเภทกระจายหุ้นเกิดในเมืองไทยแล้ว จะเป็นจุดสำคัญช่วยให้อีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในไทยดียิ่งขึ้น

พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย ผู้อำนวยการงานส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนและวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในกิจกรรมให้ความรู้นักลงทุนไลฟ์ แพลตฟอร์ม แอนด์ สตาร์ทอัพ ฟันด์เรสซิ่งว่า ตลท.ได้สร้างแพลตฟอร์ม “LIVE” (ไลฟ์) ขึ้นมา ดำเนินงานโดยบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป ซึ่งมี ตลท.ถือหุ้น 99.99% ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้ เพื่อให้บริการระดมทุนในรูปแบบการกระจายหุ้นให้กลุ่มมวลชน หรือ อิควิตี้ คราวด์ฟันดิ้ง และซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ได้ในลักษณะการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นทางการ (โอเวอร์ เดอะ เคาน์เตอร์) สำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

“เราไม่ได้ตั้งกระดานที่ 3 มาเพิ่ม จากปัจจุบันที่มีตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ แต่เรียกว่าเป็นแพลตฟอร์ม เพราะเราไม่ได้นำสตาร์ทอัพมาซื้อขายในตลาดหุ้น แค่มาใช้บริการระดมทุนได้” พงศ์ปิติ กล่าว

ไลฟ์ อยู่ระหว่างขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเปิดใช้งาน ประเมินว่าเร็วที่สุดที่จะใช้งานได้จริงน่าจะเป็นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ค่าธรรมเนียมที่แพลตฟอร์มไลฟ์คิดจากสตาร์ทอัพที่มาระดมทุนและนักลงทุนจะเปิดเผยเมื่อได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้ว บอกได้เพียงคงอยู่ในค่าเฉลี่ยที่คราวด์ฟันดิ้งในตลาดคิดคือ 3.5-5% ของมูลค่าการระดมทุน

พงษ์ปิติ กล่าวว่า ไม่ได้มีแค่ไลฟ์เท่านั้นที่กำลงรอ ก.ล.ต.อนุมัติ แต่มีคราวด์ฟันดิ้งประเภทอิควิตี้อีก 3-4 รายที่รออยู่เช่นกันซึ่งไลฟ์น่าจะเป็นคราวด์ฟันดิ้งอิควิตี้ลำดับแรกที่เปิดตัวก่อน โดยมองว่าหลังมีคราวด์ฟันดิ้ง ประเภทอิควิตี้ จะเปิดโอกาสให้อีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในไทยกว้างขวางขึ้น

เพราะปัจจุบันแหล่งทุนที่มีอยู่คือกิจการร่วมลงทุน (เวนเจอร์ แคปปิตอล หรือวีซี) มักจะไม่ลงทุนในสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มธุรกิจช่วงต้น แต่จะไปลงทุนเมื่อธุรกิจเริ่มโตระดับหนึ่งและเข้าสู่การระดมทุนในขั้นที่เป็นเมล็ดพันธุ์แล้ว (ซีด ราวด์) หรือประมาณ 1-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และระดมทุนขั้นซีรี่ส์เอ/บี/ซี หรือ 2 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป

ขณะที่ในขั้นเริ่มต้นบ่มเพาะก็มีเพียงนักลงทุนที่อยากเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพ (แองเจิ้ล อินเวสเตอร์) และองค์กรที่รับเป็นผู้ดูแลบ่มเพาะสตาร์ทอัพให้เติบโตเข้าไปลงทุนเป็นหลัก ดังนั้นการเปิดตัวแพลตฟอร์มไลฟ์จะช่วยขยายฐานนักลงทุนกลุ่มนี้และเป็นทางเลือกในการหาแหล่งเงินทุนได้กว้างขึ้น

พงษ์ปิติ กล่าวว่า ข้อสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับไลฟ์ ก็คือ การระดมทุนและซื้อขายที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มนี้จะไม่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องความเสียหายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 ได้ โดยสตาร์ทอัพที่มาระดมทุนได้ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยเท่านั้น และต้องไม่เป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายไทยด้วย

นอกจากนี้ ก็ควรเป็นธุรกิจหรือแนวคิดที่น่าสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้ มีศักยภาพในการเติบโตสูงจึงจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยจะมีรายละเอียดกำหนดว่าเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่จะมาระดมทุนต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้างเพื่อให้นักลงทุนใช้พิจารณา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้นักลงทุนรู้และเข้าใจในธุรกิจนั้นจะได้ประเมินการลงทุนได้

ขั้นตอนของเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่มาระดมทุนหรือซื้อขายผ่านไลฟ์ คือ เมื่อเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพยื่นเอกสารสมัครกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ทีเอสดี) อัพเดทข้อมูลผู้ถือหุ้นเดิมและนำใบหุ้นมาเก็บกับทีเอสดี แล้วจึงสร้างแคมเปญเพื่อระดมทุนได้ เมื่อระดมทุนเสร็จก็อัพเดทข้อมูลผู้ถือหุ้นใหม่ให้ทีเอสดี ระบบจะเก็บข้อมูลการถือครองหุ้นไว้ในบล็อกเชน แล้วก็เริ่มการซื้อขายในตลาดรองแบบเจรจาซื้อขายกันได้

ทางฝั่งของนักลงทุน ก็ไม่ได้หมายความว่าใครๆ ก็เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มไลฟ์ได้ เพราะระยะแรกไลฟ์ยังไม่เปิดให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปลงทุน แต่จะจัดอบรม สัมมนา ให้ความรู้การลงทุนและความเสี่ยงในธุรกิจเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพก่อนเพื่อประเมินความพร้อมในอนาคต

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในไลฟ์ได้ระยะแรกคือ นักลงทุนสถาบัน ได้แก่ ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน กองทุน เวนเจอร์ แคปปิตอล นิติบุคคลร่วมลงทุน (ไพรเวท อิควิตี้) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท/ปี หรือมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีประสบการณ์ลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี

อีกประเภทที่ลงทุนได้คือ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรือการลงทุน หรือเคยประเมินคุณค่าของผู้ประกอบธุรกิจ หรือให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งต้องมีเงินลงทุนโดยตรงในหุ้นตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป

พนุกร จันทรประภาพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส กล่าวว่า บัวหลวงเวนเจอร์สเป็นเวนเจอร์ แคปปิตอล เป็นบริษัทลูกที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้น 100% จดทะเบียนปีที่ผ่านมาและเริ่มดำเนินการต้นปีนี้ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเจริญเติบโต

นอกจากร่วมลงทุนแล้ว บัวหลวงเวนเจอร์ส จะเข้าไปช่วยให้คำปรึกษา ช่วยในการจับคู่ธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจที่บัวหลวงเวนเจอร์สเข้าไปลงทุนเติบโตจนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาได้พูดคุยกับสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 20 ราย เป็นการพูดคุยจริงจัง 2-3 ราย ซึ่งภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้เห็นบัวหลวงเวนเจอร์สเข้าไปร่วมลงทุนได้

พนุกร กล่าวว่า คนที่ทำสตาร์ทอัพแล้วประสบความสำเร็จอย่างมากได้ต้องมีนวัตกรรม ในที่นี้ ไม่ใช่แค่คิดแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างเดียว แต่แนวคิดนั้นต้องแตกต่างและมีความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่าการพัฒนา คือมีผลกระทบ มีประโยชน์ ไม่ใช่แนวคิดอะไรก็ได้ แต่แนวคิดนี้เมื่อพัฒนาแล้วไปแบ่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจเดิมที่มีอยู่ได้ ซึ่งสตาร์ทอัพแบบนี้คือสิ่งที่วีซีมองหา อย่างไรก็ตามสตาร์ทอัพก็ต้องทำการบ้านเลือกวีซีให้ดีให้เหมาะกับตัวเองด้วย

เพราะวีซีไม่ใช่แค่นักลงทุนที่มีเงินแต่เป็นผู้มีเงินทุนที่มาพร้อมผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยแนะนำ ถามคำถามและบ่มเพาะสตาร์ทอัพให้โตได้ วีซีแต่ละรายก็จะมีความเชี่ยวชาญต่างกัน หากให้เปรียบแล้ว สตาร์ทอัพและวีซีก็เหมือนกับคู่สามีภรรยาที่แยกกันไม่ออก ส่วนใหญ่เมื่อร่วมลงทุนกันแล้วจะต้องทำงานร่วมกันไปเพื่อให้เติบโต

เมื่ออีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในไทยเริ่มดีขึ้น เร็วๆ นี้คงได้เห็นการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยคึกคักขึ้นแน่นอน