posttoday

‘พันธมิตร&ความร่วมมือ’ 2ปัจจัยช่วยSEถึงฝัน

20 สิงหาคม 2560

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดงาน “SET Social Impact Day 2017” เป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Partnership for the Goals “รวมพลังเพื่อความยั่งยืน”

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดงาน “SET Social Impact Day 2017” เป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Partnership for the Goals “รวมพลังเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งปีนี้มีความคึกคักกว่าปีก่อน เพราะหลายภาคส่วนและประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจใน “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ SE มากขึ้น จะเห็นได้จากมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งภาคสัมมนาและมาดูกิจการเพื่อสังคม 32 ราย มาออกบูธแนะนำองค์กรและจำหน่ายสินค้า พร้อมทั้งนำเสนอแผนธุรกิจและการแก้ไขปัญหาสังคม

งานสัมมนามีวิทยากร “ศิริกุล เลากัยกุล” Brand Strategist & Sustainability Advisor, The Brand Being Consutant มาพูดถึงการสร้างแบรนด์และการพัฒนาความยั่งยืนให้กับองค์กร ซึ่งแนะนำให้เห็นชัดเจนว่าความแตกต่างระหว่าง SE กับภาคธุรกิจทั่วไปมีความแตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่เป้าหมายที่ธุรกิจจะมองเรื่องส่วนแบ่งการตลาดเพื่อนำไปสู่ผลกำไรเป็นอย่างแรก จะผิดกับ SE ที่มองเรื่องส่วนแบ่งมาที่หลัง แต่สิ่งแรกที่เขาจะนึกถึงก็คือ มีอะไรที่เขาช่วยทำให้เปลี่ยนโลกได้แค่ไหน มีโอกาสไหนที่เขาจะสามารถมาช่วยปิดช่องว่างเรื่องสังคม หรือด้านวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจก็จะมองเรื่องเร่งขยายธุรกิจให้เติบโตเพื่อที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ SE มองเรื่องความยั่งยืนเป็นลำดับแรก ถ้าสิ่งที่ทำมันยังไม่ตอบโจทย์สังคมก็พร้อมที่จะกลับไปเปลี่ยนใหม่

เช่นเดียวกับแรงขับในการทำธุรกิจจะมีการผลักดันการมีกำไรสูงสุดเป็นปลายทาง แต่ SE สร้างกำไรทำให้มีเงินเพื่อไปดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือในมุมมองที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคมทั่วไปแง่ของการทำธุรกิจมองว่าคือผลพลอยได้เพราะเป็นเรื่องบังเอิญที่เข้าไปช่วยสังคม แต่ SE ตอนเริ่มต้นทำธุรกิจจะไปเชื่อมโยงกับสังคมประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปเลยว่าจะช่วยสังคมในเรื่องอะไร ส่วนการวัดตอบรับทางธุรกิจจะต้องหาผลวิจัยมาสนับสนุน ขณะที่ SE การวัดผลตอบรับจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก เพราะไม่มีตัวชี้วัดมาก่อน

‘พันธมิตร&ความร่วมมือ’ 2ปัจจัยช่วยSEถึงฝัน

มุมมองความเสี่ยงจะมองเหมือนธุรกิจทั่วไปคิดเรื่องต้นทุน ปัจจัยเสี่ยง สภาพแวดล้อม แต่ SE นอกจากต้องคำนึงความเสี่ยงเหมือนธุรกิจทั่วไปแล้ว ต้องให้น้ำหนักเรื่องสังคม จะคิดน้อยไม่ได้ เพราะมีชีวิตคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มุมของวัฒนธรรม มิติของสังคมอื่นๆ ด้านเงินทุนอย่างในตลาดหุ้นก็มีส่วนของทุนมา แต่ SE ต้องมีอะไรที่มาเป็นตัวช่วย เช่น ทำคลาวด์ฟันดิ้งเพื่อระดมทุน

ขณะที่มุมมองของการแข่งขันทั่วไปคือมองไปที่บริษัทเป็นหลักที่จะต้องเติบโตและติดอันดับ แต่ SE คนที่ชนะคือสังคม ส่วนการวัดการเติบโตทางธุรกิจเป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนทั้งจากรายได้กำไรวัดจากบริษัทนั้นๆ ไปเลย แต่การวัดการเติบโตของ SE จะวัดกันที่ “การมีส่วนร่วมจากพันธมิตร” ซึ่งถ้า SE ไหนไม่มีเป็นเรื่องยากที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะต้องยอมรับว่าสังคมไทยเป็นสังคมหนึ่งที่ช่วยกันคิด แต่มักไม่มีคนช่วยกันทำ

ปัญหาหนึ่งของ SE อยากช่วยสังคม แต่คนที่แวดล้อมยังไม่เข้าใจใน “Social Value” ว่าจะมีผลลัพธ์กลับจากที่สังคม (Social Return) หรือเทียบได้กับผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ของธุรกิจอย่างไร เพราะทรัพยากรที่เอามาใช้มีจำกัดเช่นกัน อีกทั้งระบบการศึกษายังไม่ได้สอนรื่อง Mind Set คนที่จะมาทำ SE เป็นแบบไหนสิ่งที่จะเข้าใจและตรงหลักมากสุด คือ “ความพอเพียง” ศาสตร์ของพระราชามากที่สุด เพราะไม่มีกลไกควบคุมในการบริหารจัดการ และคนจะสัมผัสและเข้าใจสิ่งนี้ได้ยากเพราะ “จะไม่มีวันให้ เมื่อยังไม่รู้จักคำว่าพอ”

การที่ SE จะมีสเกลการเติบโตสู่ความยั่งยืนได้ต้องมี “พันธมิตรกับการร่วมมือ” เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าทุกคนช่วยกันเพราะวันนี้ไม่มีใครสามารถจะบินได้ด้วยปีกข้างเดียว และสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือได้นั่นคือการสร้างแบรนด์ นั่นคือการทำให้ตัวเราและองค์กรเรามีค่าในสังคม (Social Investment)” แต่ต้องคำนึงเรื่อง Created shares Value เพราะต้องเข้าใจว่าประเทศ สังคมนี้มีค่านิยมเป็นอย่างไร และต้องเข้าใจว่าองค์กรมีค่านิยมเรื่องให้กับสังคมหรือเป็นวัฒนธรรมองค์กรหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีก็เท่ากับเป็นการบังคับให้พนักงานไปทำเช่นกัน ถ้าเราหรือองค์กรไปช่วยที่ไม่ถูกจริตหรือตอบโจทย์ในสิ่งที่สังคมต้องการ ก็อาจจะทำให้ไม่ดีกับองค์กรหรือแบรนด์ก็ได้ สิ่งสำคัญสุดในการมี “Brand Value” ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องได้ประโยชน์เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ องค์กร และสังคมได้ด้วย เพราะเมื่อทุกส่วนได้ก็จะอยู่กันแบบยั่งยืน และในอนาคต SE จะเป็นกลไกสร้างความเปลี่ยนแปลงที่อาจมีพลังมากกว่าเอสเอ็มอีก็ได้

‘พันธมิตร&ความร่วมมือ’ 2ปัจจัยช่วยSEถึงฝัน

ในงานสัมมนายังมีการนำเสนอตัวอย่างจากผู้มีประสบการณ์จากบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่มีโอกาสได้ทำ ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นพันธมิตรให้ทั้งกับสังคม หรือ SE โดยตรง

“วิสุทธิ วิทยฐานกรณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำมันพืชไทย (TVO) ที่ได้ทำมาหลายส่วนให้สังคม โดยยึดในหลักของสมเด็จพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เคยตรัสว่า “ขาดทุนของฉัน แต่เป็นกำไรของบ้านเมือง” นั่นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้บริหารคนนี้ถ้าจะทำให้สังคมต้องมีความคิดเริ่มต้นอย่างนี้ดีที่สุด และการช่วยในแบบ SE ซึ่งไม่ง่าย เพราะต้องผ่านการมีประสบการณ์และการทำธุรกิจอย่างโชกโชนและต้องมีหัวใจการให้ ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำธุรกิจทั่วไป

ล่าสุดจึงตั้งบริษัท “พลเมืองไทย” ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้กับโรงงานและบริษัท โดยคิดให้สังคมแล้วก็ต้องมาคิดหลักตามธุรกิจประกอบไปด้วย 3M 4P คือ Man มีทีมแค่ 3 คนไม่ต้องมากเพื่อไว้บริหารจัดการธุรกิจให้เกิดความต่อเนื่อง Money ใส่เงินทุนจดทะเบียนไป 1 ล้านบาท Machine โดยไม่ต้องมีเครื่องจักรใหญ่ยุ่งยาก และ Management ก็เอาประสบการณ์ 30 ปี ในการทำธุรกิจมาปรับใช้ ส่วน “P” คือ Product สินค้าชื่อตราเพื่อชุมชน และมีการระบุชัดว่า 40% ของกำไรให้กับชุมชน เพื่อเป็นสัญญาให้กับสินค้าไปเลย Price ตั้งราคาให้เหมาะสมเพราะธุรกิจต้องอยู่ได้และคนซื้อได้ Place โดยการทดลองขายออนไลน์ และ Promotion ที่ต้องทำเพื่อแนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก

“อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เข้าไปทำ Young Smart Famer เลือกคนที่มีลักษณะ 6 ด้าน มีความรู้เรื่องที่ทำอยู่ ต้องการข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ ไม่ใช่วัฒนธรรมแบบดั้งเดิม สามารถจัดการการตลาดและสินค้าตัวเอง ตระหนักคุณภาพสินค้าสู่ลูกค้าและสิ่งแวดล้อม และมีความภูมิใจกับการเกษตรนี่สำคัญสุด เพราะมองว่าปัจจุบันเป็นเวลาที่เหมาะสมนำเรื่องเกษตรกรกับเทคโนโลยีมาเจอกันด้วยการให้ NECTEC ทำเครื่องมือฟาร์มแม่นยำที่จะมาช่วยเกษตรกรบริหารจัดการฟาร์มได้ด้วยบนมือในเวลาที่เหมาะสมในผลผลิตที่อ่อนไหวต่อสภาพดินฟ้าอากาศ อย่างเมล่อน มะเขือเทศ ผักสลัด รวมทั้งยังมีการร่วมมือกับสตาร์ทอัพ ใช้ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมและมีบิ๊กดาต้าเป็นผู้ประเมิน ถ้าขึ้นเตือนสีแดงก็แสดงว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นและให้คนไปดูที่ฟาร์ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้คนให้เกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้  ส่วนการสร้างแบรนด์จะแนะนำว่าให้คิดจากมุมมองเป็นผู้บริโภคแล้วถอยกลับมาที่สินค้าและสอนออนไลน์มาร์เก็ตติ้งด้วย

“สุรางคณา เตชะไพฑูรย์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ที่เป็นพันธมิตรและทำงานร่วมกันกับ SE ที่ชื่อ Blix Pop ที่ทำธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อการพัฒนาเด็ก โดยทางโรงพยาบาลก็ดูแลเรื่องการดูแลเด็กจากคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญ โดยอุปกรณ์การเล่นก็สามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเสริมจินตนาการและการสร้างสรรค์ การคิดต่อยอด และช่วยให้เด็กรู้จักการแก้ไขปัญหา รวมทั้งทำให้ SE มีพันธมิตรที่ต่อยอดจนเกิดความร่วมมือไปกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ

‘พันธมิตร&ความร่วมมือ’ 2ปัจจัยช่วยSEถึงฝัน