posttoday

เร่งสรุปแผนรีดภาษีลาภลอย

25 กรกฎาคม 2560

คลังเร่งสรุปแผนรีดภาษีลาภลอยก่อนและหลังพัฒนาโครงการ ก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบ กำหนดโทษแรงเบี้ยวไม่จ่ายให้ถูกต้อง

คลังเร่งสรุปแผนรีดภาษีลาภลอยก่อนและหลังพัฒนาโครงการ ก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบ กำหนดโทษแรงเบี้ยวไม่จ่ายให้ถูกต้อง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ก.ค. กระทรวงการคลังจะยังไม่มีการเสนอให้ ครม.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ.... (ภาษีลาภลอย) เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับการทำประชาพิจารณ์ในช่วงก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันยังมีการเสนอให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกฎหมายใน 5 ประเด็น ได้แก่ การนำส่งเงินภาษีจากเดิมกำหนดให้กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำส่งเงินภาษีเข้ากองทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ เป็นให้กรมที่ดินและ อปท. นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดินแทน และกำหนดให้โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่จะต้องจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและห้องชุดที่อยู่รอบโครงการ ให้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น โดยให้รวมถึงโครงการที่ทำสัญญาก่อนและยังพัฒนาโครงการไม่แล้วเสร็จในวันที่ร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้เสียภาษีรวมถึงผู้ครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ และกำหนดให้กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดเก็บภาษี โดยมอบอำนาจให้กรมที่ดินและ อปท.จัดเก็บภาษีแทน รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษ ในกรณีผู้เสียภาษีมิได้ชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้

ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า คลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย และร่าง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ พร้อมกัน เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดย พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย จะเสนอให้เก็บภาษีจากมูลค่าส่วนต่างของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากประโยชน์การก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ จะทำให้สิทธิการเช่ากลายเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ได้ ทำให้การใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจสูงสุด