posttoday

หุ้นครึ่งปีหลัง เสี่ยงปรับฐาน

04 กรกฎาคม 2560

หุ้นครึ่งปีหลังเสี่ยงปรับฐาน เฟดเริ่มลดงบดุล ทำหุ้นโลกแกว่ง 8-10% แถมค่าเงินบาทครึ่งปีหลังเสี่ยงอ่อนค่าตามฤดูกาล

หุ้นครึ่งปีหลังเสี่ยงปรับฐาน เฟดเริ่มลดงบดุล ทำหุ้นโลกแกว่ง 8-10% แถมค่าเงินบาทครึ่งปีหลังเสี่ยงอ่อนค่าตามฤดูกาล

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวในฐานะอุปนายก สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังปี 2560 ไม่น่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าช่วงครึ่งแรกปีนี้ เนื่องด้วยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มดอกเบี้ยของยุโรปมีโอกาสกลับเป็นขาขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มปรับดีขึ้น ทั้งการบริโภคกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ลดลง โดยหากดอกเบี้ยยุโรปปรับขึ้น จะทำให้เงินไหลเข้าไปลงทุนในยุโรปกดดันหุ้นไทย แต่เชื่อว่าจะไม่มีแรงขายที่รุนแรงของนักลงทุนต่างชาติ เพราะต้นปีนี้ถึงปัจจุบันต่างชาติซื้อหุ้นไทยเพียง 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ สิ้นปี 2561 ให้เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยไว้ที่ 1,620 จุด อ้างอิงอัตราราคาปิดกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ที่ 15.5-16 เท่า ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปีนี้จะอยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 101.36 บาท เติบโตประมาณ 7% ขณะที่จีดีพีของไทยปีนี้จะเติบโตได้ 3.5% ส่วนปี 2561 ให้เป้าหมายดัชนีไว้ที่ประมาณ 1,700 จุด กำไร บจ.ปี 2561 มีโอกาสทะลุ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ประมาณ 106 บาท เติบโตขึ้นประมาณ 8% ด้านจีดีพีของไทยปี 2561 จะเติบโตประมาณ 4%

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและดัชนีหุ้นไทยในปี 2560 และปี 2561 การลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ที่ทยอยอนุมัติการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กฎหมายพิเศษในการลดขั้นตอนการพิจารณาให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น ซึ่งผลบวกต่อกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องให้มีกำไรที่เติบโตทั้งกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และธนาคารพาณิชย์ที่สินเชื่อจะเติบโต ขณะที่ภาคการส่งออกยังเติบโตดีตามการขยายตัวของประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมาขยายตัว

บล.ทิสโก้ มองตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงต่อการปรับตัวลงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า (เดือน ก.ค.-ส.ค.) จาก 1.โอกาสเกิดการปรับฐานของ
หุ้นสหรัฐ ซึ่งน่าจะฉุดให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงตาม 2.การเริ่มลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคาดว่าเฟดจะประกาศแผนการลดงบดุลลงในการประชุมเดือน ก.ย. สิ่งนี้น่าจะกดดันให้ราคาหุ้นโลกผันผวนคล้ายๆ กับช่วงที่เฟดยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ซึ่งหากดูผลกระทบในอดีตแล้วหุ้นโลกจะแกว่งลง 8-10% และ 3.เงินบาทจะอ่อนค่าตามปัจจัยฤดูกาลและมีโอกาสยากที่จะกลับไปเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ 4.กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 2 ประกาศช่วงกลางเดือน ก.ค.-กลางเดือน ส.ค. มีแนวโน้มเป็นลบ เบื้องต้นคาดว่าจะลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 8% จากไตรมาสแรก จากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน-สินค้าคงคลังของหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ประกอบกับฐานกำไรของหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ค่อนข้างสูงในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ความผันผวนของราคาหุ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ เป็นโอกาสเข้าซื้อสะสม คาดตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ในเดือน ก.ย.-ต.ค. เป็นต้นไป จากภาวะเศรษฐกิจที่คาดจะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจะค่อยเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 4% ในไตรมาส 4 จากไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะเป็นจุดต่ำของปีนี้ที่โต 3.1%

ด้านแนวโน้มกำไรปีนี้และปีหน้า บจ.ไทยยังเติบโตเฉลี่ยราว 10% ต่อปี ซึ่งจะสนับสนุนดัชนีให้ปรับตัวสูงขึ้นเอง ด้วยปัจจุบันซื้อขายเหวี่ยงตัวในกรอบล่วงหน้าสัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) 14.5-15 เท่า และดัชนีที่เหมาะสม ณ สิ้นปี 2560 และ 2561 ที่ 1,650-1,660 จุด และ 1,830-1,840 จุด ตามลำดับ

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ วิเคราะห์ว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ค.นี้ จะยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,540-1,600 จุด เนื่องจากยังไม่เห็นปัจจัยที่จะผลักดันดัชนีไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดย ขาขึ้นจำกัดจากมูลค่าของตลาดที่ทรงตัวระดับสูง