posttoday

ลุยปั้นเอสเอ็มอี สู่เศรษฐกิจฐานราก

18 มิถุนายน 2560

การเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของ “บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์” ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา

โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

การเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของ “บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์” ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ต้องรับบทบาทในการผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยมากถึง 1.5 ล้านราย ให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างสะดวกซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้เอสเอ็มอีและกลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

ล่าสุด การเข้ามาปรับบทบาทการทำงานภายในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จากการเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) เป็นงานบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ขณะนี้การจัดตั้งธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ภายใน 2 วัน จากเดิม 25 วัน ถือเป็นการต่อยอดงานชิ้นสำคัญที่จะมีผลต่อการจัดอันดับขีดความสามารถการทำธุรกิจของประเทศ ซึ่งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)จะประกาศผลในเดือน ต.ค.นี้ โดยคาดว่าไทยจะอยู่สถานะดีขึ้น

หากย้อนเส้นทางการทำงานของอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “บรรจงจิตต์”ถือเป็นลูกหม้อข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ คลุกคลีอยู่กับงานด้านวางแผนและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการของไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น 

“เดิมทีไม่อยากรับราชการ เมื่อจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ก็ไปสมัครงานเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ โดยให้ไปประจำอยู่ที่เชียงใหม่ ทางบ้านไม่สะดวกเลยมาสมัครสอบราชการ 2 หน่วย คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกระทรวงพาณิชย์กรมส่งเสริมการส่งออก ปรากฏว่าสอบติดเป็นตัวจริงที่กรมส่งเสริมการส่งออก จึงเริ่มงานราชการตั้งแต่ขณะนั้น” บรรจงจิตต์ กล่าวถึงเส้นทางการทำงานในอดีต

งานเริ่มแรกที่ได้เข้ามาทำในกรมส่งเสริมการส่งออก รับผิดชอบงานวิจัย วิเคราะห์ตลาด ซึ่งทั้ง3 สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่ดีในการทำงานที่กระทรวงพาณิชย์และในช่วงเวลาเดียวกัน

“การทำงานในอดีตที่ผ่านมาถือว่าผกผันมาก ช่วงนั้นเกือบจะลาออกเพราะทำมาเกือบเป็น 10 ปีรู้สึกอยากทำงานอื่นที่ท้าทายกว่านี้ แต่ก็มีความคิดว่าหากก้าวออกไปทำเอกชนเท่ากับว่าที่ทำมาทั้งหมดเป็นศูนย์ เพราะจะต้องไปแข่งกับเด็กจบใหม่ ขณะนั้นมีการเปิดรับสมัครเป็นผู้แทนการค้าไทยประจำองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ที่เจนีวา จึงไปสมัครและสัมภาษณ์ได้ ประจำที่เจนีวา” บรรจงจิตต์ระบุ

นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งกับการมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ บรรจงจิตต์ได้รับมอบหมายอีกตำแหน่ง คือ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็ใช้ความรู้สมัยเป็นผู้อำนวยการกองเผยแพร่ฯ มาใช้ประโยชน์ มีการกำหนดประเด็นเลยว่าสัปดาห์นี้จะออกข่าวอะไร แต่ละกรมมีอะไรต้องส่งเสริม จะดูทั้งข่าวเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งหน้าที่ของโฆษกคือต้องประมวลผลและอธิบาย ขณะเดียวกันได้มีโอกาสร่วมการอบรมโฆษกกระทรวงอื่น โดยคิดว่าPublic Speaking เป็นอีกอย่างที่ผู้บริหารต้องเรียนรู้ว่าการพูดในที่สาธารณะ การให้ข่าว มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนเป็นสิ่งสำคัญสุดที่จะชี้แจงทำความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์บวกหรือลบ

บรรจงจิตต์ ทิ้งท้ายว่า หากให้ประเมินตัวเองกับการทำงานในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มองว่าการผลักดันให้ข้าราชการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั้งหมดปรับเปลี่ยนทัศนคติ (มายด์เซต) ใหม่ จากการเป็นคนที่กำกับดูแล มาเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และรับฟังผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีให้เติบโตและแข็งแรง ถือเป็นการหลอมรวมความเข้าใจในองค์กรที่มากกว่าคะแนน ซึ่งการมาอยู่กรมนี้ทำให้มีส่วนช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรม ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมี
ส่วนในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งต่อไป