posttoday

พลังงานทดแทน ธุรกิจอนาคต

27 มีนาคม 2560

ธุรกิจพลังงานทดแทนมีอนาคตสดใส ธุรกิจแห่งความหวังทดแทนธุรกิจดั้งเดิมที่หนีตายขยายตัวเข้ามา

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬห์

ธุรกิจพลังงานทดแทนมีอนาคตสดใส ธุรกิจแห่งความหวังทดแทนธุรกิจดั้งเดิมที่หนีตายขยายตัวเข้ามา แต่จะโชติช่วงชัชวาลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลากปัจจัย สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง...ทุน รวมถึงการได้มาและเงื่อนไขของสัญญา

ธุรกิจพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ขยะ ผู้ประกอบการตระหนักดีว่าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงิน เพราะต้นทุนแต่ละเมกะวัตต์ไม่ได้ถูก สนนราคาเฉลี่ยต่อเมกะวัตต์เกิน 50-70 ล้านบาท

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นธุรกิจประเภทนี้เข้าระดมทุนและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตัวอย่างที่รวบรวมมา 7 บริษัท มีมูลค่าระดมทุน ณ ราคาเสนอขายครั้งแรกต่อประชาชน (ไอพีโอ) มีมูลค่ารวมประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากราคาหุ้นเข้าซื้อมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ก็พุ่งทะยานขึ้น

ทั้งนี้ 7 บริษัท คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บ้านปูเพาเวอร์ (BPP) บีซีพีจี (BCPG) บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ซีเค พาเวอร์ (CKP) ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL)

ยังไม่นับรวม บริษัท เอสพีซีจี (SPCG) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่เข้าตลาดหุ้นมานานเกินกว่า 5 ปี และขณะนี้มี 2 บริษัท อยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์

ฮาราลด์ ลิงค์ หรือ หรัณเลขนะสมิทธิ์ ประธานกรรมการ บี.กริมเพาเวอร์ ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ โดย บี.กริม เพาเวอร์ ผู้ประกอบธุรกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (โฮลดิ้ง คอมพานี) ที่ถือว่าเป็นผู้ผลิตไฟฟ้างานบริหารสัญญาซื้อไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และรุกสู่การทำธุรกิจพลังงานทดแทนในทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศเป็น 1 ในธุรกิจของเครือบี.กริม ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 139 ปี

หรัณ กล่าวว่า การตัดสินใจนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนใน SET และจะเสนอขายไอพีโอด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 775.50 ล้านหุ้น โดย 70.50 ล้านหุ้น เป็นส่วนของหุ้นที่จัดสรรส่วนเกิน (กรีนชู) เพราะ บี.กริม เพาเวอร์ มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตและขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามแผนภายใน 5 ปีนับจากนี้จะมีโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกทั้งหมด 12 โรงไฟฟ้า มีกำลังการผลิตรวมที่ 2,400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 5.5 หมื่นล้านบาท 

ปัจจุบันบริษัทนี้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 43 โครงการ โดยดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 28 โครงการ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,625.7 เมกะวัตต์ 

เครือบี.กริม มีธุรกิจครบทั้งธุรกิจสาธารณูปโภค คมนาคม ธุรกิจอุปโภคบริโภค และสาธารณสุข ขณะที่ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีโรงไฟฟ้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ทั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะ นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี ซึ่งถือว่ามีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการที่ บี.กริม มีทุกอย่างที่เป็นมาตรฐานเยอรมนี ทำให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างมีประสิทธิภาพสูงมากและเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า หากจะใช้เงินจากการดำเนินกิจการมาลงทุนต่อก็ทำได้แต่การเติบโตจะเชื่องช้า

“เราจะใช้เงินของเราก็ได้ แต่ถ้าหากเราอยากเติบโตไว การตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดจะเป็นการสร้างโอกาสและสร้างการเติบโตที่ดี อีกทั้งธุรกิจไฟฟ้าที่ทำอยู่เป็นธุรกิจแห่งโอกาส เพราะการที่ประเทศไทยประกาศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัล อีโคโนมิก ไฟฟ้าจะเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นความต้องการ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทุนที่มากเพียงพอ”ประธานกรรมการ กล่าว

การทำธุรกิจของบี.กริม จะไม่อยู่เฉพาะในประเทศไทย แต่จะขยายไปต่างประเทศ ทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อินโดนีเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าอนาคตสัดส่วนกำลังการผลิตหรือรายได้จากต่างประเทศจะมีประมาณ 30% ของรายได้รวม

บี.กริม เพาเวอร์ มีรายได้จากการขายและบริการในปี 2559 อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท มีกำไรขั้นต้นที่ 5,686 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 3,750 ล้านบาท ส่วนกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 2,319 ล้านบาท เพิ่มจาก 347.3 ล้านบาท ขณะที่กำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 1,380 ล้านบาท เพิ่มจาก 36.3 ล้านบาท มีหนี้สินที่ 4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559