posttoday

นักวิชาการแนะรัฐบาลใหม่จัดลำดับเครื่องมือสร้างรายได้ประเทศฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

12 กรกฎาคม 2562

นักวิชาการแนะรัฐบาลใหม่จัดลำดับเครื่องมือสร้างรายได้ให้ประเทศ เร่งการลงทุนภาครัฐ หนุนส่งออก กระตุ้นท่องเที่ยว ใช้นโยบายเพิ่ม-ลดภาษี

นักวิชาการแนะรัฐบาลใหม่จัดลำดับเครื่องมือสร้างรายได้ให้ประเทศ เร่งการลงทุนภาครัฐ หนุนส่งออก กระตุ้นท่องเที่ยว ใช้นโยบายเพิ่ม-ลดภาษี

รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ เปิดประเด็นวิเคราะห์ความท้าทายในการทำงานของรัฐบาลใหม่กับการใช้เครื่องมือสร้างรายได้ให้ประเทศ ระบุ 4 เครื่องมือหลักช่วยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในปีนี้

1.เร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า 2. หนุนการส่งออก 3. กระตุ้นการท่องเที่ยว และ4. นโยบายภาษี ที่มีทั้งการลดและเพิ่มภาษี
เมื่อกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจทรงตัว แม้ระบบเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพ มีการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ แต่อัตราการเติบโตในภาพรวมยังไม่ถือว่าสูง และแนวโน้มการส่งออกเริ่มชะลอตัวมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา และจะซึมยาวไปอีกเพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ยังมีความไม่แน่นอนของเสถียรภาพในอียูจากกรณี Brexit ของอังกฤษ ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี

อีกทั้ง เป็นที่แน่นอนแล้วว่าการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สามารถทำได้เร็วที่สุดภายในไตรมาสแรกของปี 2563 แทนที่จะสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติในไตรมาสสุดท้ายปี 2562 ส่งผลกระทบการเบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ของรัฐบาลอย่างไม่อาจเลี่ยง ทำให้การใช้จ่ายเพื่อบริหารจัดการในปีนี้ รัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณคงค้างจากปี 2562 ไปก่อน

รศ.ดร.นงนุช กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลใหม่ในช่วงนี้ ต้องถือว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นความท้าทายความสามารถของทีมเศรษฐกิจและการคลังมากที่สุด ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ดูไม่สดใส โดยเครื่องมือสร้างรายได้ให้ประเทศจะอยู่ใน 4 กลุ่มหลัก คือ หนึ่ง การลงทุนภาครัฐ ในโครงการขนาดใหญ่และคมนาคม นอกจากช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการลงทุนและช่วยเพิ่มการหมุนเวียนเงินในระบบ

“เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงวันนี้และมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อไปอีก จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับรัฐบาลที่จะใช้โอกาสนี้ เร่งการลงทุนในโครงการที่ต้องใช้เครื่องจักร หรือเครื่องมืออุปกรณ์และวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ วิธีนี้จะถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้รัฐด้วยการลดรายง่ายงบประมาณการลงทุนลงไปได้” รศ.ดร.นางนุช กล่าว

สอง การส่งออก ไม่มองว่าเงินบาทแข็งค่าเป็นอุปสรรคของการส่งออก แม้ในระยะยาวการขยายตัวการส่งออกอาจทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ควรมองว่าการส่งออกคือการบริโภคของต่างประเทศ รัฐต้องหาวิธีที่จะยังคงการบริโภคเช่นนี้ไว้ รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าสินค้าส่งออกหลักของไทยก็เป็นสินค้าส่งออกของประเทศคู่แข่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน

สาม การท่องเที่ยวและบริการ ถือเป็นการบริโภคจากต่างประเทศเช่นเดียวกับการส่งออก และเป็นการบริโภคภายในประเทศด้วย สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่เรื่องของการใส่เงินในกระเป๋าให้คนไปเที่ยวมากขึ้น แต่ต้องเร่งสร้างความสะดวกในการเดินทางการคมนาคม ซึ่งจะโยงกลับไปที่การเร่งการลงทุนของภาครัฐซึ่งต้องถือเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งในตอนนี้

สี่ นโยบายทางภาษี มีทั้งการเพิ่มและลดภาษี การลดภาษีบุคคลธรรมดาแนวนโยบายที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ซึ่งยังรอความชัดเจนว่าสามารถดำเนินการได้ในแบบไหนอย่างไร ในขณะที่การเพิ่มภาษี รัฐบาลใช้การเพิ่มภาษีในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีสินค้าและบริการทางออนไลน์ เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ ภาษีการใช้เฟสบุ๊ค-กูเกิ้ล-ไลน์ รวมทั้งการเก็บภาษี สินค้าที่เป็นอันตรายสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม การเพิ่มอัตราภาษียาสูบยาเส้น โดยกรมสรรพากรให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีไว้ว่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษีแต่ละประเภท ยังมีเรื่องของภาษีความเค็มและภาษีไขมันในกลุ่มสินค้าอาหารที่เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีขึ้น ซึ่งหวังว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคต สำหรับการดูแลรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยที่มักมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ

“เครื่องมือสร้างรายได้เข้ารัฐทุกทางยังคงบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ ทั้งการเร่งลงทุนภาครัฐ การส่งออกและท่องเที่ยว สำหรับนโยบายภาษี สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ การกำหนดนโยบายที่เป็นธรรม และครอบคลุม ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นนโยบายภาษีที่แม้จะสร้างรายได้เพิ่มให้รัฐแต่อาจก่อผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนได้” รศ.ดร.นงนุช กล่าว