posttoday

แบงก์กรุงไทยหั่นเศรษฐกิจโต3.3%

04 กรกฎาคม 2562

ธนาคารกรุงไทยลดเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3.3% และปีหน้าโต 3.6% พิษสงครามการค้า การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว คาดค่าเงินบาทแข็ง

ธนาคารกรุงไทยลดเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3.3% และปีหน้าโต 3.6% พิษสงครามการค้า การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว คาดค่าเงินบาทแข็ง

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาสงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น ทำให้การค้าระหว่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชนทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่พึ่งพาจีน ทั้งซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนในประเทศมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น และรายได้เกษตรกรที่ชะลอลงจากภัยแล้งช่วงต้นปี ธนาคารจึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 3.3% จากที่ประเมินไว้เดิม 3.8% และปีหน้าคาดจะเติบโต 3.6%

พร้อมกันนี้ได้ปรับลดการส่งออกเหลือเติบโตเพียง 0.8% จากเดิม 4% ส่วนปีหน้าคาดส่งออกจะเติบโต 2.5% โดยมีความท้าทายเพิ่มเติมจากการที่เวียดนามได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในการส่งออกไปยุโรปเพิ่มขึ้น

“สงครามการค้าจะกดดันภาคการส่งออกต่อไป สำหรับแรงกระตุ้นจากภาครัฐมีค่อนข้างจำกัด นอกจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแล้ว คาดว่าเม็ดเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะเบิกจ่ายได้เพียง 7.7 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าแผนฯ แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปีถัดไป” นายพชรพจน์

นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง นโยบายการเงินทั่วโลกจะผ่อนคลายลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้กลับลำนโยบายการเงินไปในทิศทางผ่อนคลาย รวมทั้งได้ประกาศที่จะยุติการลดขนาดงบดุลในเดือนกันยายนนี้ และจากการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน ได้ระบุชัดเจนว่าพร้อมจะดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สอดคล้องกับประเทศหลักอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนที่ส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม

“สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ตลอดปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจภายใต้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อในระดับต่ำ คาดว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่า ซ้ำเติมธุรกิจส่งออก แม้จะกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนแต่มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มผ่าน Macro Prudential มากขึ้น ซึ่งในครึ่งปีหลังอาจมีมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ ด้วยความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นในระยะหลัง ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า ควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น” นายมานะ กล่าว