posttoday

บุหรี่เถื่อนหนีภาษีลดดันรายได้สรรพมิตเพิ่ม2,000 ล้านบาท

26 มิถุนายน 2562

"ฟิลลิป มอร์ริส" ชื่นชมมาตรการปราบปรามเชิงรุกของภาครัฐ คาดช่วยลดการสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตในปี 2561 ได้กว่า 2,000 ล้านบาท

"ฟิลลิป มอร์ริส" ชื่นชมมาตรการปราบปรามเชิงรุกของภาครัฐ คาดช่วยลดการสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตในปี 2561 ได้กว่า 2,000 ล้านบาท

บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) เผย “ผลการสำรวจซองเปล่าบุหรี่ (Empty Pack Survey)” ซึ่งทำการสำรวจสัดส่วนบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีจากซองเปล่าบุหรี่ที่ถูกทิ้งแล้ว 10,000 ซอง โดยสุ่มเก็บตามท้องถนนและสถานที่ทิ้งขยะสาธารณะใน 36 จังหวัด ทั่วประเทศไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 พบซองบุหรี่ไม่เสียภาษี (ไม่มีแสตมป์สรรพสามิตไทย) เหลือเพียง 5.2% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่พบบุหรี่ผิดกฎหมายราว 6.6% เนื่องจากราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้นจากการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยฟิลลิป มอร์ริสขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับภาครัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมมือกันดำเนินงานตามมาตรการปราบปรามเชิงรุกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) ให้ความเห็นว่า ถือเป็นความสำเร็จของกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการปราบปราม ทำให้สัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีเฉลี่ยทั่วประเทศลดลง ซึ่งประเมินแล้วว่า ช่วยลดการสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีของภาครัฐได้มากถึง 2,000 ล้านบาท แต่สถานการณ์ในจังหวัดที่พบบุหรี่ไม่เสียภาษีมากที่สุดและเป็นที่น่าจับตามอง คือ 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ที่พบบุหรี่ ไม่เสียภาษีสัดส่วนสูงถึง 73.4% ตามมาด้วย สตูล 72.7% และพัทลุง 36%

ทั้งนี้ 70% ของซองบุหรี่เปล่าที่ไม่เสียภาษีที่พบในการสำรวจนั้น ไม่ปรากฏฉลากที่ระบุว่าผลิตมาเพื่อจำหน่ายในประเทศใด หรือเพื่อจำหน่ายในร้านค้าปลอดอากรแต่อย่างใด จึงทำให้ไม่สามารถระบุที่มาของบุหรี่ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามซองบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักดีในตลาดชายแดนภาคใต้ และจากที่ได้พูดคุยกับร้านค้าปลีกรายเล็กๆ ในพื้นที่ซึ่งจำหน่ายบุหรี่ถูกกฎหมาย ก็ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับผลการสำรวจ

นายพงศธร กล่าวว่า มีความกังวลต่อการจำหน่ายยาสูบแบบให้ความร้อนแต่ไม่เผาไหม้ (Heat-Not-Burn) ของ ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (พีเอ็มไอ) ผ่านช่องทางออนไลน์และเว็บไซต์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนฯ ดังกล่าวของพีเอ็มไอมีจำหน่ายอย่างถูกกฎหมายในกว่า 47 ประเทศทั่วโลก

สำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่และอาจยังคงสูบบุหรี่ต่อไป ผลิตภัณฑ์นี้อาจถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งประเทศไทยได้ห้ามนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2557 แต่ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทางพีเอ็มไอจึงเฝ้าติดตามตลาดออนไลน์และเว็บไซต์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับผู้บริโภคชาวไทยอย่างผิดกฎหมาย โดยในกรณีที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ (เช่นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต) จะมีการส่งร้องเรียนไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มให้ลบออกโดยทันที