posttoday

ชงลดภาษีหาเสียงแลกหั่นลดหย่อนยันไม่ขึ้นแวตกระทบศก.

10 มิถุนายน 2562

สรรพากรชงลดภาษีหาเสียงแลกยกเลิกลดหย่อนที่ไม่จำเป็น ป้องกันการเก็บรายได้มีปัญหากระทบเศรษฐกิจ หลังการเก็บภาษีเกินเป้าหมายรอบ 10 ปี ยันไม่ขึ้นภาษีแวต

สรรพากรชงลดภาษีหาเสียงแลกยกเลิกลดหย่อนที่ไม่จำเป็น ป้องกันการเก็บรายได้มีปัญหากระทบเศรษฐกิจ หลังการเก็บภาษีเกินเป้าหมายรอบ 10 ปี ยันไม่ขึ้นภาษีแวต

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังศึกษานโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล ที่จะให้มีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% และการเว้นเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าราชการไม่ว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนมาเป็นรัฐบาล กรมสรรพากรก็จะศึกษาวิเคราะห์มาตรการดังกล่าว ซึ่งทุกมาตรการต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างเดียว แต่มีต้นทุนในการดำเนินการด้วย

ดังนั้นหน้าที่ของกรมสรรพากร ต้องเสนอข้อมูลให้ผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลใหม่เห็นว่าประโยชน์และต้นทุนของมาตรการคืออะไร อย่างตรงไปตรงมา เพื่อใช้ประกอบการในการตัดสินใจที่จะดำเนินนโยบายต่อไป

นายเอกนิติ กล่าวว่า ข้อเสนอของกรมสรรพากรนอกจากการลดภาษีตามนโยบายพรรคการเมืองแล้ว ก็จะมีการเสนอให้ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีที่ไม่จำเป็นหรือหมดความจำเป็นแล้วหลายตัว เพื่อจะได้มีรายได้กลับมาชดเชยจากการลดภาษี ส่วนจะมีการยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF หรือไม่ ยังระบุไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล

ปัจจุบันค่าลดหย่อนภาษีมีจำนวนมาก ทั้งการลดหย่อนส่วนตัว การเลี้ยงบุตร การเลี้ยงดูพ่อแม่ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ ประกันพ่อแม่ เลี้ยงดูคนพิการ ช็อปช่วยชาติ ท่องเที่ยว การซื้อสินค้าโอทอป รวมแล้วกว่า 10 รายการ ซึ่งต้องดูภาพรวมว่าหากมีการลดภาษีแล้วจะต้องยกเลิกมาตรการลดหย่อนที่ไม่จำเป็นส่วนไหนบ้าง

นายเอกนิติ กล่าวว่า เรื่องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต.) จาก 7% เป็น 10% ต้องดูภาพรวมทางเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งชะลอตัว หากเพิ่มภาษีแวตตอนนี้จะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายต้องให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการลดภาษีแวต 10% เหลือ 7% มีผลถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพากรเก็บภาษีได้เกินเป้าหมาย 38,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ส่วนสำคัญมาจาการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาบริหารการเก็บภาษี ทำให้การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคบล ภาษีแวต เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีในช่วงเดือน ก.พ. มี.ค. และ เม.ย. 2562 เก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความไม่มั่นใจการเมืองในประเทศ และสงครามการค้าทำให้การส่งออกนำเข้าชะลอลงมาก แต่การเก็บภาษีในเดือน พ.ค. กลับมาเกินเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทอีกครั้ง ทั้งปีคาดว่าจะได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 80% ของรายได้ทั้งประเทศ และในปี 2563 จะเก็บภาษีได้ 2.1 ล้านล้านบาท

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีกรมสรรพากรจะเข้มงวดกับผู้โกงภาษี ที่หลบเลี่ยงภาษี โดยใช้ข้อมูลทางดิจิทัลเข้ามาช่วยประมวลผล ในการตรวจสอบผู้เสียภาษีไม่ครบถ้วน

นอกจากนี้ กรมสรรพากรอย่างดำเนินมาตรการบัญีชีเดียว ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีไม่ถูกต้องทำให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียค่าปรับเงินเพิ่ม แต่ยังต้องเสียภาษีที่ยังจ่ายไม่ครบ โดยมาตรการจะมีถึงวันที่ 30 มิ.ย. นี้ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาลงทะเบียนเข้าโครงการแล้ว 4.4 หมื่นราย จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบภาษีทั้งหมด 4 แสนราย ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งทำการให้การเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น