posttoday

ธอส.แก้หนี้NPLเชิงรุก รับเป็นตัวกลางขายตรง

27 พฤษภาคม 2562

ธอส. เร่งแผนเป็นตัวกลางขายหนี้ NPL ให้กับผู้ที่สนใจตรง หวังกด NPL ให้เหลือ 4% พร้อมเปิดตัวโครงการ “ระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง” ขายทรัพย์รอการขายแบงก์รัฐ

ธอส. เร่งแผนเป็นตัวกลางขายหนี้ NPL ให้กับผู้ที่สนใจตรง หวังกด NPL ให้เหลือ 4% พร้อมเปิดตัวโครงการ “ระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง” ขายทรัพย์รอการขายแบงก์รัฐ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนจัดทำโครงการ Virtual NPL เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ประสบปัญหาด้านรายได้จนทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ตามปกติและกลายเป็น NPL ของธนาคาร

โครงการดังกล่าว ธอส. จะเปรียบเสมือนศูนย์กลางในการรวบรวมที่อยู่อาศัยที่เป็น NPL ของธนาคารเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูข้อมูลและเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ธนาคารกำหนดโดยได้รับความยินยอมจากผู้กู้เดิมของธนาคารแล้ว

เมื่อสามารถจำหน่าย NPL ได้ เงินที่ธนาคารได้รับจากผู้ซื้อจะถูกนำไปหักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดให้แก่ผู้กู้เดิมของธนาคาร จึงทำให้ผู้กู้เดิมสามารถปลดภาระหนี้รวมถึงเป็นหนึ่งในมาตรการใหม่จากปัจจุบันที่มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น NPL อยู่แล้ว 13 มาตรการ ซึ่งจะช่วยลด NPL ของธนาคารลงให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ไม่เกิน 4% ของสินเชื่อคงค้างในสิ้นปี 2562 จากปัจจุบันธนาคารมี NPL อยู่ที่ จำนวน 49,295 ล้านบาท คิดเป็น 4.37%

นอกจากนี้ ภายในเดือนกันยายน 2562 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังมีกำหนดเปิดตัวโครงการ “ระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง” ซึ่งถือเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 31.1 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสองที่แสดงอุปสงค์และอุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสอง

โครงการดังกล่าว เป็นการสร้างตลาดเสมือนจริง (Digital Virtual Market) สำหรับอสังหาริมทรัพย์มือสอง เพื่อสร้างช่องทางกลางในการซื้อขายและสร้างให้มีสภาพคล่องในตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสอง ที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของตลาดบ้านใหม่ด้วยการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง และนำข้อมูลที่ได้จากระบบฐานข้อมูล มาประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสองเพื่อการกำหนดและทบทวนนโยบายในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ต่อไป

ปัจจุบันการดำเนินโครงการอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำบันทึกความร่วมมือในการจัดทำโครงการและจัดส่งข้อมูลทรัพย์รอการขายเข้ายังฐานข้อมูล เพื่อให้เป็นศูนย์รวมทรัพย์ NPA ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทั้งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 7 แห่ง รวมถึงธนาคารกรุงไทย บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) และกรมบังคับคดี ควบคู่ไปกับการพัฒนา Software ของระบบ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อทรัพย์ NPA ผ่านทางเว็บไซต์รวมถึง Application บนโทรศัพท์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย