posttoday

ไตรมาสแรกสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ชะลอตัว ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

21 พฤษภาคม 2562

ธปท.แจงผลการดำเนินงานแบงก์พาณิชย์ไตรมาสแรกสินเชื่อชะลอตัว คาดปีนี้โต 5-6% เหตุภาคธุรกิจหันระดมทุนผ่านตราสารหนี้มากขึ้น ขณะที่ฐานะทางการเงินยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

ธปท.แจงผลการดำเนินงานแบงก์พาณิชย์ไตรมาสแรกสินเชื่อชะลอตัว คาดปีนี้โต 5-6% เหตุภาคธุรกิจหันระดมทุนผ่านตราสารหนี้มากขึ้น ขณะที่ฐานะทางการเงินยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2562 ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว ชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวดีต่อเนื่องในทุกพอร์ต คุณภาพสินเชื่อทรงตัวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ด้านกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่เป็นรายการพิเศษ รวมทั้งค่าใช้จ่ายการกันสำรองที่ลดลง

ทั้งนี้ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงจาก 6 % ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.6% โดยเป็นการชะลอตัวตามสินเชื่อธุรกิจจากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางรายในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ที่หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ปี 2562 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ จะขยายตัวได้ 5-6%

อย่างไรก็ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีในทุกพอร์ต สอดคล้องกับการบริโภคที่ขยายตัวดี และเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งมีการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการ Loan To Value (LTV) มีผลบังคับใช้ สินเชื่อธุรกิจ (65.3% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 3.4% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 4.4% ซึ่งเป็นการขยายให้สินเชื่อในธุรกิจสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง

ขณะที่มีการทยอยชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ในธุรกิจบริการ สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวชะลอลงจาก 4.5% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ 1.5% จากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ที่ใช้วงเงินสินเชื่อสูงบางรายในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวดีในธุรกิจสาธารณูปโภคหมวดการผลิตไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง ส่วนใหญ่จาก SME ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่  สินเชื่ออุปโภคบริโภค ( 34.7 % ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวสูงต่อเนื่อง 10.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงในทุกพอร์ต โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวสูงขึ้นจากการเร่งปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องมาจากไตรมาสที่แล้ว ก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 ด้านสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ทั้งที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อบ้านแลกเงินและสินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.94% ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 454 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 10 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ และขายหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) เพิ่มขึ้นจาก 2.42% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.56% จากสินเชื่อธุรกิจ SME เป็นสำคัญ