posttoday

ธปท.แจงผู้ประกอบการเมินปล่อยกู้กันเอง

10 พฤษภาคม 2562

ธปท. อกหักผู้ประกอบการไม่สนใจปล่อยกู้ระหว่างบุคคลกับบุคคล P2P lending platform ยังไม่มีใครสมัครเข้าทดสอบ ใน regulatory sandbox

ธปท. อกหักผู้ประกอบการไม่สนใจปล่อยกู้ระหว่างบุคคลกับบุคคล P2P lending platform ยังไม่มีใครสมัครเข้าทดสอบ ใน regulatory sandbox

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปล่อยกู้ระหว่างบุคคลกับบุคคล P2P lending platform เพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา และขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการสมัครเข้าทดสอบใน regulatory sandbox แต่ที่ผ่านมามีผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจ P2P lending platform หลายรายมาหารือรายละเอียดกับ ธปท. เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะสมัครเข้าทดสอบ

สำหรับการที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ P2P lending platform ต้องผ่านการทดสอบใน regulatory sandbox ก่อน จึงจะยื่นขอใบอนุญาตฯ จากกระทรวงการคลังได้ ซึ่งต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในไทย มีคนไทยถือหุ้น 75% ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ผู้จัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลจะเป็นตัวกลางปล่อยกู้ มีระบบให้ข้อมูลเพียงพอ ต่อการตัดสินใจและกำหนดวงเงินกู้

สำหรับผู้กู้เงินจะให้เฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีโครงการธุรกิจห้ามเสนอการกู้หลายแพลตฟอร์ม ป้องกันได้เงินซ้ำซ้อนและกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการ

ทางด้านผู้ให้กู้สามารถคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 15% ปล่อยกู้รวมกันทุกแพลตฟอร์มได้ไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี ส่วนนิติบุคคลให้กู้ได้ไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งผู้ปล่อยกู้จะต้องประเมินและรับความเสี่ยงเอง

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ P2P lending platform ซึ่งจะเผยแพร่บน website ของ ธปท. ต่อไป

สำหรับ P2P lending เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนและบุคคลผู้ประกอบอาชีพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยสถาบันการเงินเองแม้จะไม่สามารถประกอบธุรกิจ P2P lending platform ได้ แต่ก็ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจอื่นที่ต้องมีการแข่งขัน โดยในธุรกิจ P2P lending สถาบันการเงินสามารถร่วมเป็นพันธมิตรหรือเป็นผู้ให้บริการเก็บรักษาเงิน (Escrow account) ได้

อย่างไรก็ดี ผู้ขอสินเชื่อผ่าน P2P lending platform ส่วนใหญ่มักจะเป็นบุคคลรายย่อยหรือบุคคล ผู้ประกอบอาชีพที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ ซึ่งบริษัทลูกของสถาบันการเงินสามารถประกอบธุรกิจ P2P Lending Platform ได้