posttoday

Trust จัดการทรัพย์สิน หรือเลี่ยงภาษี

25 มีนาคม 2562

ถึงวันนี้คงจะรู้กันแล้วว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบ 8 ปี

เรื่อง ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ถึงวันนี้คงจะรู้กันแล้วว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบ 8 ปี พรรคไหนชนะการเลือกตั้งและนำจัดตั้งรัฐบาล ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี… แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเล่าให้ฟังในฉบับนี้

เรื่องร้อนก่อนวันเลือกตั้งที่น่าสนใจ จนหลายคนไปค้นคว้าเพิ่มเติม เมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่า ได้ใช้วิธี “Blind Trust” บริหารจัดการทรัพย์สินที่มีเป็นพันล้านบาท โดยระหว่างที่ทำงานการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่รู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทรัพย์สินกองนั้นใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้ บล.ภัทร บริหารจัดการตามความเหมาะสม และจะเอาคืนเมื่อเลิกทำงานการเมืองไปแล้ว 3 ปี

ก่อนที่จะไปเรื่อง Blind Trust ต้องรู้จัก Trust หรือทรัสต์ ก่อนว่าคืออะไร

จุดกำเนิดเรื่องนี้ต้องย้อนไปไกลมากถึง สงครามครูเสด เมื่อเกือบ 1,000 ปีที่แล้ว ทหารอังกฤษที่ต้องไปรบในสงคราม ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะมีชีวิตกลับไปหาครอบครัวไปจัดการทรัพย์สินมรดกหรือไม่ จึงเกิดการตั้งระบบ “ทรัสต์” ขึ้นมา หรือขณะนั้น เป็นการตั้งคนขึ้นมาบริหารกองทรัพย์สินของตัวเองในที่นี้เรียกว่า ทรัสตี (Trustee) โดยระบบ ทรัสต์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดกฎระเบียบจริงจังหรือเรียกว่า Trust Law

กำหนดสิทธิและประโยชน์หลักๆ 3 ข้อคือ

1.ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่ถูกเปิดเผย

2.ทรัพย์สินนั้นได้รับการยกเว้นภาษี

3.สามารถบริหารสินทรัพย์ให้กับครอบครัวไล่ลงมาประมาณ 5 เจเนอเรชั่น เพราะตัวทรัสต์มีอายุประมาณ 100 ปี หากครบกำหนดต้องนำออก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะตั้งทรัสต์ขึ้นมาอีก 1 แห่ง เพื่อรองรับสินทรัพย์ที่บริหารครบ 100 ปี

องค์ประกอบของทรัสต์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ก่อตั้ง (Settlor) ผู้รับผลประโยชน์ (ฺBeneficiary) และผู้ดูแลจัดการทรัพย์สิน (Trustee) หากไล่เรียงความสัมพันธ์ชัดๆ จะเป็นไปตามหน้าที่คือ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของกองทรัพย์สินจะโอนทรัพย์สินและแสดงเจตนาตั้งทรัสต์ไปให้แก่ทรัสตี โดยทรัสตีจะมีอำนาจบริหารจัดการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และส่งมอบให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ชัดเจนตั้งแต่แรก

อ่านมาถึงตรงนี้เหมือนทรัสต์จะคล้ายๆ กับการจัดการมรดก แต่ต่างกันตรงที่กฎหมายทรัสต์ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมารองรัภายใต้คอมมอนลอว์ (Common Law) ซึ่งใช้แนวคำพิพากษาของศาลมาเป็นบรรทัดฐาน บางประเทศอย่างอังกฤษใช้อยู่ โดยคอมมอนลอว์ของทรัสต์จะใช้หลักฐานจาก หนังสือแสดงเจตนารมณ์ของเจ้าของ (Letter of Wish) ส่วนนี้ Settlor เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเปลี่ยนก็แจ้งที่ทรัสตี หลังจากนั้น Letter of Wish ตัวใหม่มีผลบังคับใช้แทนตัวเก่าทันที

“ยกตัวอย่าง การเปลี่ยน Letter of Wish เดิมกำหนดผู้รับผลประโยชน์ 5 คน แต่บังเอิญมีคนหนึ่งเสียชีวิตไป ทาง Settlor ก็ไปเปลี่ยนแปลง Letter of Wish ใหม่ ให้เหลือผู้รับผลประโยชน์ 4 คน เป็นต้น”

ใครงงอยู่ ก็ให้คิดว่า Letter of Wish คล้ายกับพินัยกรรม นั่นเอง แต่!

พินัยกรรม ถ้าผู้รับผลประโยชน์ไม่เห็นด้วย สามารถยื่นคัดค้านต่อศาลได้ ขณะที่ Letter of Wish ตามกฎหมายทรัสต์ไม่สามารถคัดค้านได้ และไม่เปิดเผยด้วยว่าใครได้อะไรเท่าไหร่ ทางทรัสตีจะเป็นผู้จัดการเอง

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Executive Director Head of Wealth Planning กลุ่มงานไพรเวทแบงก์กิ้ง ธนาคารกสิกรไทย อธิบายเพิ่มเติมถึง ทรัสต์ ในประเทศไทยว่า แม้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Civil Law ที่ตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร แต่ที่ผ่านมาเราก็มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทรัสต์มาแล้ว เช่น พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 นอกจากนี้รัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการเสนอกฎหมาย ดังนั้น จะว่าทรัสต์เป็นเรื่องใหม่ของคนไทยก็คงจะไม่ใช่เสียทีเดียว

ความแตกต่างระหว่าง “ทรัสต์” กับ “บริษัท” ตามกฎหมายไทยก็คือ ทรัสต์ ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแบบบริษัท ทรัสต์จึงไม่มีผู้ถือหุ้น มีแต่ ทรัสตี เป็นผู้ดูแลแทนเจ้าของเดิม ส่วนการทำธุรกรรม เนื่องจากไม่เป็นนิติบุคคล ทรัสต์จึงทำธุรกรรมไม่ได้ด้วยตัวเองแบบเดียวกับบริษัท ผู้มีหน้าที่ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์ในกองทรัสต์ จึงเป็นทรัสตี ส่วนทรัสตีเป็นใครนั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะกำหนด

สำหรับบริการทรัสต์มาใช้ประโยชน์หลากหลาย ประการแรก ทรัสต์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพย์สิน (Wealth Management) ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของการลงทุน เช่น การจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่นักลงทุนชาวไทยคุ้นเคย การจัดตั้งทรัสต์เพื่อบริหารทรัพย์สินที่เป็นสิทธิประโยชน์ของพนักงานในบริษัท

นอกจากนี้ ทรัสต์ยังใช้บริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเจ้าของทรัพย์สินเดิมอยากจัดการทรัพย์สินให้กับลูกหลานโดยมีทรัพย์ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นของกงสี ก็จัดตั้งทรัสต์ขึ้นและโดยโอนเฉพาะทรัพย์สินส่วนที่เป็นกงสีเข้าเป็นกรรมสิทธิ์ในกองทรัสต์ ให้ทรัสตีจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งทรัสต์ตลอดไปตราบเท่าที่กองทรัสต์ยังอยู่

ประการที่ 2 ทรัสต์สามารถใช้เป็นเครื่องมือปกป้องทรัพย์สิน (Asset Protection) อาทิ เจ้าของทรัพย์สินอาจมองเห็นว่า ทรัพย์สินของตนมีความเสี่ยง เนื่องจากในอนาคตอาจมีคดีความที่ฟ้องร้องเรียกเอาจากทรัพย์สินดังกล่าว เจ้าของทรัพย์สินเหล่านี้ จึงอาจตั้งทรัสต์และโอนทรัพย์สินที่ต้องการจะปกป้องเข้าไปในกองทรัสต์ดังกล่าว เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจึงเป็นของทรัสตี เมื่อมีเหตุที่เจ้าหนี้ไล่เบี้ยก็ไม่อาจเรียกเอาทรัพย์ที่อยู่ในกองทรัสต์มาชำระหนี้แก่เจ้าของเดิมได้

ประการที่ 3 ทรัสต์ใช้ในการรักษาความลับ (Information Disclosure) อย่างที่ได้พูดมาแล้วว่า กรรมสิทธิ์ในกองทรัสต์และชื่อในทางทะเบียนจะอยู่ในชื่อของทรัสตี เวลาที่มีการสืบค้นทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการสืบทรัพย์ในกระบวนการบังคับคดี ภาษีหรือเหตุอื่นใด จึงไม่ปรากฏชื่อของผู้ก่อตั้งทรัสต์แต่อย่างใด

ทรัสต์ยังถูกใช้ประโยชน์ในอีกมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการกุศล (Charitable Trust) ที่แยกทรัพย์สินที่ต้องการทำสาธารณกุศลออกจากทรัพย์สินของเจ้าของเดิม หรือบุคคลที่มีความต้องการเป็นพิเศษ (Trust for Special Needs) อาทิ คนสูงอายุที่ต้องการจัดการทรัพย์สินให้กับตนเองในยามที่อายุมากและไม่สามารถทำเองได้ และขยายขอบเขตไปไกลจนถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วย

“เราได้ยินข่าวอยู่เนืองๆ ล่าสุด นักออกแบบชื่อดัง Karl Lagerfeld ทาสแมวผู้ซื่อสัตย์ก็ได้จัดตั้งกองทรัสต์เพื่อดูแลแมวของตนให้มีชีวิตหรูหรา สะดวกสบายเหมือนในสมัยที่ Karl ยังมีชีวิตอยู่”พีระพัฒน์ กล่าว

สำหรับกรณีของ Blind Trust นั้น ใช้แยกสถานะการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการเป็นเจ้าของธุรกิจออกจากกัน โดยแต่งตั้งทรัสตีให้ทำหน้าที่ดูแล โดยที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจเดิมจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องและไม่มีอำนาจแทรกแซง เพื่อป้องกันการขัดกันทางผลประโยชน์ (Conflict of Interests) ดังนั้น ประโยชน์ของการใช้ทรัสต์จึงมีความหลากหลาย

“ผมสนับสนุนร่างกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ แต่ควรปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทย เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นทางกฎหมายจากการนำระบบ Common Law มาใช้ ส่วนตัวอยากเห็นรัฐเปลี่ยนแนวคิดจากการเป็นผู้กำกับมาเป็นผู้ส่งเสริมให้มีเครื่องมือใหม่ๆ ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีเครื่องมือ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยนำทรัพย์สินไปจัดตั้งทรัสต์ในต่างประเทศ อีกทั้งหลายประเทศยกเลิกกฎหมายภาษีมรดก และเปลี่ยนมาส่งเสริมการลงทุนและการบริหารทรัพย์สินส่วนบุคคลแทนแล้ว” พีระพัฒน์ ปิดท้ายอย่างตรงไปตรงมา

อีกมุมมองหนึ่งจากผู้เชี่ยวชาญด้านไพรเวทแบงก์ ระบุว่า Blind Trust ไม่มีในพจนานุกรมของกฎหมายทรัสต์ใดๆ ในโลก มองว่าเป็นการตั้งชื่อเฉพาะขึ้นมา ซึ่งอ่านรายละเอียดแล้วเหมือนเป็นการบริหารแบบกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) มากกว่า เพราะจัดตั้งโดย บลจ.ผู้จัดการกองทุนดูแล มีเงินใส่เข้าไป มีนโยบายลงทุน มีคณะกรรมการ กำหนดขอบเขตการลงทุน ฯลฯ แต่เหนืออื่นใด “เจ้าของยังเป็นของเจ้าของเงินหรือทรัพย์สินนั้นอยู่มีกรรมสิทธิ์อยู่” ขณะที่ ทรัสต์ กรรมสิทธิ์จะอยู่ที่ทรัสตี

ประเทศที่มีทรัสต์ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาะบริติชเวอร์จิ้น เกาะเกิร์นซีย์ของอังกฤษ แต่ที่นิยมมากต้องเป็นประเทศที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ฉะนั้น หากมองอีกด้านทรัสต์ดูเหมือนตรวจสอบยาก โปร่งใสน้อย เพราะไม่สามารถเปิดเผยชื่อเจ้าของได้ และยังได้สิทธิทางภาษีอีก

“สหรัฐเริ่มไม่ยอมแล้ว เพราะเป็นช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษี คนอเมริกันไปเปิดทรัสต์เยอะ คิดว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ สหรัฐจะให้ ทรัสต์ต้องเปิดเผยชื่อ Settlor แม้แต่อังกฤษก็เริ่มบีบ เพราะเสียรายได้ภาษีตรงนี้ไปเยอะ ท้ายที่สุด ทรัสต์ก็ไม่มีผลอะไรอีกต่อไป เนื่องจากคนเลือกไปทรัสต์ คือปกปิดเรื่องภาษีและการส่งผ่านเวลธ์รุ่นสู่รุ่นแบบไม่ให้คัดค้านได้” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว

อาจจะยังสรุปไม่ได้ว่า ทรัสต์เป็นเครื่องมือบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพ หรือเป็นช่องโหว่เลี่ยงภาษีและความโปร่งใสกันแน่ คงต้องไปดูที่ “เจตนา” หากใช้ในทางที่ดีแยกแยะผลประโยชน์ก็เป็นเรื่องดีของสังคม แต่ถ้าหวังหลบเลี่ยงก็คงต้องหาวิธีรับมือกันต่อไป

Trust จัดการทรัพย์สิน หรือเลี่ยงภาษี