posttoday

ลุ้นเลือกตั้งกระตุ้นจีดีพีฟื้น

16 มีนาคม 2562

นักเศรษฐศาสตร์เผยข้อมูลหลังเลือกตั้ง การบริโภคกระฉูดในไตรมาสถัดมา หนุนจีดีพีโต

นักเศรษฐศาสตร์เผยข้อมูลหลังเลือกตั้ง การบริโภคกระฉูดในไตรมาสถัดมา หนุนจีดีพีโต

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากข้อมูลผลของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า การเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ ซึ่งเดือนใดที่มีการเลือกตั้ง หลังจากนั้น 3-4 เดือนตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนพุ่งขึ้นแรงมาก เพราะการเลือกตั้งมีแคมเปญต่างๆ มีเงินสะพัดจากการหาเสียงกระจายลงในพื้นที่ ทำให้การบริโภคในประเทศคึกคัก ซึ่งทางกรุงศรีได้นำปัจจัยดังกล่าวรวมในประมาณการเศรษฐกิจปีนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี แม้จะได้การเลือกตั้งหนุน แต่ธนาคารได้ปรับประมาณการจีดีพีลงจาก 4.1% เป็น 3.8% เป็นผลมาจากการส่งออกชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งประเมินตัวเลขการส่งออกปีนี้เติบโต 3.6-3.7% ลดลงครึ่งหนึ่งจากปี 2561 ที่เติบโต 7.7%

สำหรับนโยบายทางเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมืองคล้ายกัน โดยนโยบายระยะสั้นเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจตอบรับเสียงของประชาชนที่บอกว่าตัวเลขเศรษฐกิจดีแต่ไม่รู้สึก ซึ่งรัฐบาลใหม่มีนโยบายการคลังที่สามารถทำได้ทันทีผ่านการอัดฉีดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายสวัสดิการ การประกันรายได้

ด้านนโยบายระยะยาว คีย์เวิร์ดใหญ่ทุกพรรคมีเหมือนกัน 5 เรื่อง ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาศักยภาพคน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน เศรษฐกิจดิจิทัล และเฮลท์แคร์ ซึ่งเกิดจากปัญหาในประเทศที่เห็นตรงกัน

“แต่หลายโครงการ เช่น อีอีซี ที่นักลงทุนกังวลว่าจะหายไปไหม ส่วนตัวมองว่าไม่ง่ายที่จะยกเลิก เพราะมีกฎหมายอีอีซีชัดเจน ฉะนั้นไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลเชื่อว่าอีอีซีจะขับเคลื่อนต่อไปได้ เหมือนกับบีโอไอที่มีมา 30 ปีแล้ว ขณะที่การมีกฎหมายแผนยุทธศาสตร์ชาติที่แยกกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจออกจากการเมือง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้มาก แม้ว่าจะแยกไม่ขาดโดยสิ้นเชิง แต่การผูกโยงน้อยลง ทำให้นักลงทุนมองไทยมีการพัฒนาต่อเนื่องและน่าสนใจเข้าลงทุน” นายสมประวิณ กล่าว

นายสมประวิณ กล่าวว่า ในปีนี้คงไม่มีปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ส่วนปีหน้าต้องติดตามสถานการณ์ก่อน มองว่าถ้าจะเกิดจริงอย่างเร็วก็คงกลางปีหน้า ซึ่งเงื่อนไขที่ทำให้ไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะมาจากภาคต่างประเทศมากกว่า เพราะเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงการส่งออกมากที่สุด ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า เศรษฐกิจไทยจะถดถอยหากเศรษฐกิจโลกโตต่ำกว่า 1.7% ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเชื่อว่านโยบายการเงินการคลังคงรับมือได้