posttoday

ทางออกธุรกิจ-ยุคดิจิทัล

14 มีนาคม 2562

การเสวนา “KTC FIT Talks#4: เจาะลึกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและช็อปปิ้งออนไลน์

เรื่อง กัลย์ทิชา นับทอง

การเสวนา “KTC FIT Talks#4: เจาะลึกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและช็อปปิ้งออนไลน์ ทางออกเศรษฐกิจไทยยุคดิจิทัล” ซึ่งจัดขึ้นโดยเคทีซี โดยได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นถึงการทำธุรกิจประสบความสำเร็จ สร้างโอกาสในการทำธุรกิจ ในยุคที่กระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเน้นสะดวกสบาย รวดเร็ว และการสร้างความเชื่อมั่นต่อการให้บริการทางการเงิน

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี”(บัตรกรุงไทย) กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่สมาชิกหันมาสนใจและคุ้นเคยกับการค้นหาข้อมูลและทำรายการใช้จ่ายต่างๆ ผ่านออนไลน์ด้วยตนเองมากขึ้น พร้อมตอบโจทย์ความต้องการด้านออนไลน์ โดยการสรรหาสิทธิประโยชน์ด้านออนไลน์ให้แก่ใช้บัตร มีโค้ดส่วนลดจากพันธมิตรออนไลน์มากที่สุด เฉลี่ยมากกว่า 80 พันธมิตรออนไลน์/เดือน และสร้างแลนดิ้งเพจ (Landing Page) เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงข้อมูลและสิทธิประโยชน์ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว

ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซดุเดือดมาก แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศนั้น ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยตลาดยังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยมีการขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า
ร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น โอกาสในการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ในไทยยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ที่สนใจ

“เราพยายามพัฒนากลยุทธ์เพื่อตอบสนองการใช้งานของลูกค้าอย่าง ตรงใจ โดยเฉพาะการเป็นแพลตฟอร์มที่ ‘เสิร์ชอะไรก็เจอ’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการให้บริการ โดยเน้นสร้าง Ecosystem ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องตั้งแต่สินค้า ช่องทางชำระเงิน ธนาคารและระบบขนส่งสินค้า เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ลาซาด้าแตกต่างจากรายอื่น”

นริสสา ลิมปนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซิลิงโก้ ประเทศไทย “แพลตฟอร์มแฟชั่นออนไลน์” กล่าวว่า ในยุคที่ดิจิทัลดิสรัปชั่นจะต้องปรับตัวหลายอย่างให้ทันกับตลาด โดยรู้ว่าปัญหาของลูกค้าคืออะไร และหากลวิธีต่างๆ ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ การขยายสินค้าและการกำหนดราคาให้เหมาะสม ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีผลกับดิสรัปชั่นในทุกธุรกิจ ดังนั้น พฤติกรรมผู้บริโภคจึงเสมือนตัวกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทในประเทศนั้นๆ โดยการทำธุรกิจจะต้องทำคู่กันทั้งแบบดั้งเดิมและเเบบออนไลน์

จุรีรัตน์ ก้องเกียรติวงศ์ หัวหน้าสายงานดิจิทัล แผนกเครื่องสำอางชั้นสูงลอรีอัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจับมือกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการ เป็นการสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ ที่เหมาะกับลูกค้า ดังนั้น การที่จะทำให้ลอรีอัลมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น จะต้องนำพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในโมเมนต์ต่างๆ ของลูกค้าได้ เช่น อีมาร์เก็ตเพลส ก็จะยิ่งทำให้ลอรีอัลเข้าถึงลูกค้าในช่องทางขายใหม่ๆ ได้ ประกอบกับการเติบโตของอีมาร์เก็ตเพลส จะช่วยเพิ่มโอกาสในการหาลูกค้าใหม่ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับลูกค้าได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน”

กีรติ โรจนกีรติกานต์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พอลพ่า บายดามาคัน กล่าวว่า ธุรกิจออนไลน์ในไทยต้องใช้การเข้าถึงตัวบุคคลค่อนข้างมาก เพราะคนไทยชอบการรีวิว และเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่าย โดยกิจกรรมการตลาดที่ความสำเร็จมากในไทย คือ การลดราคา การแจกของรางวัลชิ้นใหญ่ โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมทำอะไรบางอย่างที่ไม่ยากและขั้นตอนไม่มาก

สำหรับการซื้อของออนไลน์ แม้จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่มีคนอีกจำนวนมากที่มีความกังวลในการใช้บริการออนไลน์ ดังนั้น การสั่งซื้อของออนไลน์และทำธุรกรรมทางการเงินจะต้อง ตรวจสอบรายละเอียดสินค้าที่สั่งซื้อและจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนการชำระ เลือกวิธีการชำระที่ปลอดภัยและพิจารณาสิทธิพิเศษเพื่อประโยชน์ในการชำระ ไม่ใช้ลิงค์เชื่อมโยงที่มากับอีเมลหรือในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเข้าสู่ระบบการโอนเงินชำระออนไลน์ พร้อมจำกัดวงเงินในการทำธุรกรรมผ่านธนาคารออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีถูกมิจฉาชีพขโมยรหัส