posttoday

Bond Yield สหรัฐกับไทย... ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป

21 กุมภาพันธ์ 2562

อดีตที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐและไทยอายุ 10 ปี มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง

เรื่อง สมาคมตราสารหนี้ไทย

อดีตที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐและไทยอายุ 10 ปี มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง แต่ในช่วงหลังจากวิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล สหรัฐและไทย อายุ 10 ปี ดูจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันน้อยลง Correlation ที่คำนวณได้ในช่วงหลังปี 2008 ก็มีค่าต่ำลงจากในช่วงก่อนหน้าเล็กน้อย (ปี 2002-2008 มีค่า +0.57 และลดเหลือ +0.51 ในช่วงปี 2009-2018) แต่หากมองถึงสถานการณ์ในปีที่ผ่านมาที่เพิ่งเกิดขึ้น

มีหลายช่วงจังหวะที่ Bond Yield ไทยเคลื่อนไหวตามปัจจัยเฉพาะของไทยเองมากกว่าที่จะเคลื่อนไหวล้อตามไปกับ Bond Yield สหรัฐ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานไหม

พื้นฐานเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินไทยปัจจุบันแข็งแกร่งขึ้นมาก เกินดุลบัญชีเดินสะพัดปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2017 มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของจีดีพี ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ด้านหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลต่อจีดีพีต่ำเพียง 0.6% มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างมากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เผชิญความผันผวนต่างประเทศได้ดีขึ้น ความเสี่ยงจากต่างประเทศจึงมีแนวโน้มจะกระทบต่อตลาดทุนไทยน้อยลง อย่างน้อยก็กับตลาดตราสารหนี้ไทย

เหตุการณ์ปีที่ผ่านมาพบว่า Bond Yield ไทยมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกเทศจาก Bond Yield สหรัฐ หรือได้รับผลกระทบอย่างจำกัด แม้ว่า Bond Yield สหรัฐค่อนข้างผันผวนก็ตาม โดยส่วนต่างของค่าสูงสุดและต่ำสุด Bond Yield 10 ปีของไทยในปีที่ผ่านมามีค่าเพียงครึ่งหนึ่ง (44 bps.) ของ Bond Yield สหรัฐ (80 bps.) ตลอดทั้งปีก็มีหลายช่วงหลายตอนที่ Bond Yield ไทยกับสหรัฐไม่ค่อยจะสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น

เปิดต้นปีในเดือน ม.ค. Bond Yield สหรัฐเพิ่มขึ้นราว 28 bps. จากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐที่คาดว่าจะขยายตัวดี แต่ Bond Yield ไทยกลับลดลง 3 bps. จากเงินลงทุนต่างประเทศที่ทั้งเดือนยังไหลเข้าซื้อในตราสารหนี้ระยะยาวสุทธิสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ช่วงดังกล่าวยังเป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของ Bond Yield ไทยที่ต่ำกว่า Bond Yield สหรัฐ

ถัดมาในครึ่งเดือนหลัง พ.ค. Bond Yield สหรัฐปรับลดลงถึง 27 bps. จาก 3.095% ซึ่งระดับ 3% มีความสำคัญทางจิตวิทยามายืนอยู่ที่ 2.83% จากความกังวลเรื่องหนี้ของอิตาลีและปัญหาการเมืองในสเปน แต่ทว่า Bond Yield ไทยปรับขึ้น 8 bps. หลังการประกาศจีดีพีไตรมาสแรกที่ขยายตัวดีกว่าคาดและสูงสุดในรอบ 5 ปี

ต่อมาในเดือน ก.ค. แม้ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มร้อนระอุอีกครั้ง แต่ข้อมูลการจ้างงานเชิงบวกหนุนให้ Bond Yield สหรัฐปรับขึ้นอีก 10 bps. ตรงข้ามกับ Bond Yield ไทยที่ลดลง 8 bps. จากเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าต่อเนื่อง

อีกช่วงหนึ่งในปลายไตรมาส 3 ที่ความผันผวนในตลาดดีดสูงขึ้นจากความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังออกมาดี ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐปรับขึ้นถึง 35.5 bps. ไปยืนที่ 3.227% แถมเป็นการแตะระดับสูงสุดในรอบกว่าปี แต่ Bond Yield ไทยขยับขึ้นเพียง 14 bps. หลังเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มส่งสัญญาณแผ่วตัวลง อนึ่งในช่วงดังกล่าว Bond Yield ไทยยังได้ปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดในปี 2018 อยู่ที่ 2.885% ด้วย

สรุปพื้นฐานเศรษฐกิจไทยบวกกับเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น ส่วนการเคลื่อนไหวของ Bond Yield ไทยกับ Bond Yield สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ลดลง