posttoday

ธปท.คุมสินเชื่อรถ-บ้าน ตัดไฟแต่ต้นลม

20 กุมภาพันธ์ 2562

ธปท.เห็นถึงความเสี่ยงของสินเชื่อรถยนต์หลังจากมีลักษณะการปล่อยสินเชื่อเติบโตอย่างมีนัยสำคัญคล้ายกับสินเชื่อบ้านก่อนหน้านี้

ธปท.เห็นถึงความเสี่ยงของสินเชื่อรถยนต์หลังจากมีลักษณะการปล่อยสินเชื่อเติบโตอย่างมีนัยสำคัญคล้ายกับสินเชื่อบ้านก่อนหน้านี้

******************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังไม่หมดห่วง ในเรื่องความเสี่ยงเชิงระบบ ที่มาจากการปล่อยสินเชื่อไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ ธปท.อยากเห็น ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ใช้มาตรการแม็คโครพรูเด็นเชียล หรือมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปแล้ว เน้นการควบคุมวงเงินสินเชื่อต่อหลักประกัน (LTV) ที่จะมีผลในวันที่ 1 เม.ย. 2562 เป็นต้นไป

ทว่า มาตรการ LTV ยังไม่ทันได้เริ่มใช้อย่างเป็นทางการ ธปท.ก็เล็งเห็นถึงความเสี่ยงของสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มเติมเข้ามา หลังจากลักษณะการปล่อยสินเชื่อเติบโตอย่างมีนัยสำคัญคล้ายคลึงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนหน้านี้ เริ่มต้นจากสินเชื่อขยายตัวสูง เริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้ผ่านหนี้ที่จับตามองเป็นพิเศษ (Special Mention : SM) ก่อนจะตามมาด้วยตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงขึ้น

ปี 2561 สินเชื่อรถยนต์ มีอัตราเติบโตสูงสุดในบรรดาสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเติบโต 12.6% เป็นอัตรา 2 หลักในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 ที่เคยเติบโตพุ่งไปถึง 39% จากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกจากนั้นอัตราการเติบโตต่ำมาตลอด โดยในปี 2556 เติบโต 8.4% ปี 2557 ติดลบ 3% ปี 2558 เติบโต 0.5%ปี 2559 เติบโต 1.4% และปี 2560 เติบโต 8.4%

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) สินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 1.66% เพิ่มขึ้นจาก 1.6% เมื่อปีก่อนหน้า ทว่า SM ทรงตัวอยู่ระดับสูงที่ 7.11% เป็นสัญญาณหนึ่งที่ ธปท.ต้องจับตามองสินเชื่อรถยนต์เป็นพิเศษ และได้เริ่มเคลื่อนไหวติดตามสถานการณ์ที่ผิดปกติดังกล่าว

สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ ผู้ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์จะเข้าตรวจสอบเป็นการเฉพาะ (Target Examination) ในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ หลังจากพบว่าการปล่อยสินเชื่อเร่งตัวสูง

ทั้งนี้ ธปท.ได้หารือกับซีอีโอของธนาคารต่างๆ สอบถามหลายด้าน ทั้งนโยบายการปล่อยสินเชื่อ และทำตามนโยบายหรือไม่ รวมทั้งได้ดูความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้อย่างรอบคอบหรือไม่โดยเปรียบเทียบวงเงินกู้กับรายได้ของลูกหนี้

“ธปท.ให้ความสำคัญ ในส่วนที่ลูกหนี้จะกู้เพิ่มเมื่อเทียบกับรายได้แล้ว ต้องดูลูกหนี้ผ่อนไหวหรือไม่โดยเป้าหมายเราอยากเห็นแบงก์มองผลกระทบในระยะยาว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้” สมชาย กล่าว

อย่างไรก็ตาม สมชาย ยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้ปักธงว่าต้องออกแม็คโครพรูเด็นเชียลเพื่อกำกับดูแลสินเชื่อรถยนต์หรือไม่ ขอดูข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ

การตรวจสอบเป็นการเฉพาะในสินเชื่อรถยนต์ นับเป็นสินเชื่อประเภทที่ 2 ที่มีการตรวจสอบในลักษณะของ Target Examination หลังจากได้ดำเนินการในสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาแล้ว จนกระทั่งมีการออกมาตรการแม็คโครพรูเด็นเชียลในที่สุด

การออกตัวว่า มีการจับตาสินเชื่อรถยนต์เป็นพิเศษ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณจาก ธปท.ไปถึงค่ายรถยนต์และสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อให้ขายและปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบและถูกต้อง

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เป็นคนแรกที่ออกมาเปิดเผยว่า พบความผิดปกติในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากการที่แข่งขันกันผลักดันยอดขายกันอย่างหนักหน่วง จนเกิดเป็น “สินเชื่อเงินทอน” ทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารเป็นราคาสูงกว่าที่ซื้อจริง รวมทั้งเห็นโปรโมชั่นท็อปอัพ เช่น ท็อปอัพอุปกรณ์รถยนต์ แต่ไม่มีอุปกรณ์แต่งรถให้จริง เมื่อธนาคารตรวจสอบพบก็ได้จัดการอย่างเข้มงวดไม่ให้เกิดขึ้นอีกเพราะเป็นความเสี่ยงต่อธนาคารเอง

เช่นเดียวกับในวงการสินเชื่อรถยนต์แสดงความกังวลที่เอสเอ็มอยู่ระดับสูงต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ซึ่งการที่เอ็นพีแอลสุดท้ายไม่สูง เพราะสินเชื่อรถยนต์เป็นสินเชื่อระยะสั้นราว 5 ปี สามารถบริหารจัดการได้ไม่ยากเหมือนสินเชื่อบ้าน

“รอบการเปลี่ยนรถใหม่ของคนไทยสั้นลงมาอยู่ที่ 5 ปี หรือผ่อนหมดก็เปลี่ยน จากเมื่อก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ปี ซึ่งรอบเปลี่ยนรถสั้นลงไม่ได้เป็นปัญหาของระบบ ถ้าความสามารถชำระหนี้ยังดีอยู่ แต่เห็นได้จากอัตราเอสเอ็มที่สะท้อนความสามารถชำระหนี้ด้อยลง” แหล่งข่าววงการสินเชื่อรถยนต์ ระบุ

ย้อนกลับมาที่สินเชื่อบ้าน หลังออกมาตรการแม็คโครพรูเด็นเชียล ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 พบว่า ในช่วงไตรมาส 4 ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อบ้านเติบโตสูงถึง 5.7 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 4 ปี ส่วนแนวโน้มไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าจะสูงกว่าไตรมาสที่แล้ว คาดว่าเป็นการสนับสนุนการระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยก่อนที่เกณฑ์กำกับจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2562 นี้

และข่าวดีก็คือ พบว่าธนาคารพาณิชย์ได้ปรับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ให้วงเงิน LTV เกิน 100% ล่าสุดมีสัดส่วนลดลงเหลือ 19%จากก่อนหน้านี้สูงกว่า 20% ในเวลาไม่กี่เดือน

หลายครั้งที่ ธปท.ได้เห็นสัญญาณผิดปกติและออกมาตรการมากำกับดูแลก่อนที่ตลาดจะรู้ตัว เนื่องจาก ธปท.เป็นเหมือนศูนย์ข้อมูล แหล่งรวมดาต้าสำคัญที่นำมาวิเคราะห์เพื่อออกนโยบายดูแลระบบได้ทัน ไม่เลือกที่จะนิ่งนอนใจ แม้ภาคธุรกิจจะไม่พอใจกับสิ่งที่ ธปท.ดำเนินการ แต่เพราะประสบการณ์ในอดีตเมื่อปี 2540ได้พิสูจน์มาแล้วว่าเจ็บปวดแค่ไหน ต้องไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก