posttoday

ลุ้นธปท.ไฟเขียวพีทูพีปล่อยกู้

19 กุมภาพันธ์ 2562

แบงก์ชาติหารือกลต.เตรียมออกเกณฑ์บุคคลปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ธปท.ถก ก.ล.ต.ออกเกณฑ์ดูแลปล่อยกู้บุคคลกับบุคคล (พีทูพี เลนดิ้ง) คาดเริ่มภายในปีนี้

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (พีทูพี เลนดิ้ง) ที่ ธปท.จะออกมานั้น ให้มีความสอดคล้องกันกับของ ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ธปท.และกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลในส่วนของรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น เอสเอ็มอี เป็นต้น ส่วน ก.ล.ต.จะกำกับดูแลที่เป็นนิติบุคคล เช่น ที่เป็นตราสารและคลาวด์ฟันดิ้ง เป็นต้น โดยคาดว่าหลักเกณฑ์จะออกมาได้ภายในปีนี้

"หลักเกณฑ์การปล่อยกู้พีทูพีนั้นยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องทำให้เสร็จเรียบร้อย ซึ่งได้เปิดประชาพิจารณ์ไปแล้ว และอยู่ระหว่างหารือกับก.ล.ต. เพราะต้องทำไปพร้อมๆ กันระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมทั้งต้องเร่งสร้างความเข้าใจระหว่างผู้จะกู้ ผู้ให้กู้ และประชาชนเพราะเป็นเรื่องใหม่ ซึ่ง ผู้กู้และผู้ให้กู้จะไม่ได้เจอหน้ากัน ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มตัวกลางเป็นส่วนสำคัญ เพื่อใช้ในการตัดสินใจก่อนจะเข้ามาขอกู้และยังดีกว่าไปกู้ยืมนอกระบบ" น.ส.สิริธิดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้เปิดประชาพิจารณ์ เพื่อจะออกประกาศหลักเกณฑ์และรายละเอียดเกี่ยวกับ การดำเนินธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (พีทูพี เลนดิ้ง แพลตฟอร์ม) หลังจากกระทรวงการคลังได้ออกประกาศให้ธุรกิจประเภทนี้ต้องขออนุญาต ทำให้ ธปท.ต้องออกหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ที่สนใจทำแพลตฟอร์มตัวกลางปล่อยกู้ระหว่างบุคคลเข้ามาทดสอบในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมการเงินแซนด์บ็อกซ์ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังและ ธปท.

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์เบื้องต้นผู้ที่สนใจทำแพลตฟอร์มจะต้องมายื่นขออนุญาตกับ ธปท. ก่อนจะเสนอให้กระทรวงการคลังออกใบอนุญาตต่อไป เพื่อให้ผู้ที่อยากทำธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะดำเนินธุรกิจในพีทูพี เลนดิ้ง แพลตฟอร์ม จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทยมีทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท และมีคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 75% สำหรับผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ พีทูพี เลนดิ้ง และไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจพีทูพี เลนดิ้ง เป็นต้น โดยผู้ให้กู้ที่เป็นรายย่อยสามารถร่วมปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี ในทุกแพลตฟอร์ม ขณะที่นิติบุคคลจะสามารถปล่อยกู้ร่วมได้ไม่ จำกัดวงเงินตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และไม่เป็นผู้ประกอบการพีทูพี เลนดิ้ง หรือคลาวด์ฟันดิ้ง โดยผู้ขอกู้สามารถ กู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/โครงการ