posttoday

ภาษีรถคัมแบ็ก ฝันร้ายยานยนต์โลก

19 กุมภาพันธ์ 2562

การขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนนำเข้ารถยนต์จากต่างชาติของสหรัฐเปรียบเสมือนพายุลูกใหญ่ที่กำลังจะพัดถาโถมถล่มภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกในอีกไม่ช้านี้

โดยนรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

หลังหายใจหายคอโล่งไปได้พักใหญ่ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกก็กลับเข้าสู่ความหวาดหวั่นอีกครั้ง จากรายงานข่าวว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ส่งมอบรายงานผลการศึกษาเรื่องภาษีรถยนต์ ให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อพิจารณาว่าจะขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าจากต่างชาติหรือไม่

การศึกษาดังกล่าวดำเนินการตามมาตรา 232 เพื่อสืบหาว่ารถยนต์และชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างชาติเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือไม่ คล้ายคลึงกับกรณีการสอบสวนการเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากต่างชาติก่อนหน้านี้

ทรัมป์มีเวลาอีก 90 วัน ในการตัดสินใจว่า จะประกาศขึ้นภาษีดังกล่าวตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ทรัมป์จะประกาศตั้งภาษีรถยนต์นำเข้าที่อัตรา 20-25% หลังข่มขู่ว่าจะเก็บภาษีดังกล่าวมาโดยตลอด

และล่าสุดทรัมป์ยังเปิดเผยว่า การตั้งภาษีช่วยปกป้องภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และทำให้สหรัฐได้เปรียบในการทำข้อตกลงการค้ากับชาติอื่นๆ

ความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐจะประกาศตั้งภาษีนำเข้ารถต่างชาติ จึงเป็นฝันร้ายที่หากเกิดขึ้นจริง จะยิ่งซ้ำให้ภาคยานยนต์โลกบอบช้ำยิ่งขึ้นไปอีก หลังสหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากต่างชาติไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ค่ายรถต้องแบกต้นทุนการผลิตเพิ่ม โดยชาติที่ได้รับกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้น เยอรมนี และญี่ปุ่น ขณะที่สหรัฐเองก็มีแนวโน้มเจ็บหนักไม่แพ้กัน

สำหรับ "สหภาพยุโรป (อียู)" นั้น ถึงมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า อียูจะตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่ 2 หมื่นล้านยูโร (ราว 7 แสนล้านบาท) หากรัฐบาลทรัมป์เก็บภาษีรถยนต์นำเข้า แต่การตั้งภาษีตอบโต้ดังกล่าวก็อาจไม่เพียง

พอชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของอียู คิดเป็นสัดส่วน 29.3% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของอียูเมื่อปี 2017

จากสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ดังกล่าว การปรับขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าของสหรัฐ จึงคาดว่าจะฉุดการส่งออกสุทธิของอียูลง 2% ใน 2019 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีอียูปรับลง 0.4% หรือคิดเป็น 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ตามการประเมินของธนาคารบาร์เคลย์

นอกจากผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม การขึ้นภาษีรถยนต์นั่งจากอียูที่ 2.5% ในปัจจุบัน ไปเป็น 25% จะส่งผลให้ราคารถยนต์ยุโรปปรับขึ้นมาอีกเฉลี่ยราว 1 หมื่นยูโร (ราว 3.5 แสนบาท) ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนผลกำไรของบรรดาค่ายรถยุโรป

"เยอรมนี" คือ ชาติยุโรปที่จะได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงจากภาษีรถสหรัฐ เนื่องจากเยอรมนีเป็นหนึ่งในชาติที่ส่งรถยนต์ไปสหรัฐมากที่สุด โดยสถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี คาดการณ์ว่า กำแพงภาษีรถสหรัฐเสี่ยงฉุดการส่งออกรถไปสหรัฐของเยอรมนีลงถึง 50% ในระยะยาว

Ifo ระบุว่า ในระยะสั้นนั้น การขึ้นภาษีจะฉุดการส่งออกรถยนต์เยอรมนีลง 7.7% คิดเป็น 1.84 หมื่นล้านยูโร (ราว 6.5 แสนล้านบาท)

พร้อมเสริมว่า ค่ายรถเยอรมนีมีแนวโน้มขาดทุนเพิ่มกว่า 7,000 ล้านยูโร (ราว 2.47 แสนล้านบาท)

สาเหตุอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีเสี่ยงเจ็บตัวมากสุด

มาจากการที่ค่ายรถเมืองเบียร์ไม่ได้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐ จึงต้องแบกต้นทุนจากภาษีนำเข้าสูง โดยบีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส-เบนซ์ และโฟล์คสวาเกน ผลิตรถยนต์นอกสหรัฐสัดส่วนถึง 67% 63% และ 84% ตามลำดับ

"ญี่ปุ่น" เป็นอีกชาติที่จะเจ็บตัวรองลงมาจากเยอรมนี โดย Ifo ประเมินว่า ค่ายรถแดนปลาดิบอาจขาดทุนเพิ่มประมาณ 8,000 ล้านยูโร (ราว 2.82 แสนล้านบาท)

รถยนต์ถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น และการส่งออกรถไปสหรัฐอยู่ที่สัดส่วน 5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่นปี 2017 คิดเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.24 ล้านล้านบาท)

แม้ในช่วงที่ผ่านมา ค่ายรถญี่ปุ่นได้เพิ่มการผลิตรถยนต์ในตลาดสหรัฐมากยิ่งขึ้น แต่บรรดาค่ายรถจำนวนมากก็ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาอยู่ดี สะท้อนออกมาจากมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์นั่งของสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ 3.4 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2017

นอกจากเยอรมนีและญี่ปุ่นแล้ว เกาหลีใต้ ก็เป็นอีกชาติที่คาดว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีรถ 3,000 ล้านยูโร (ราว 1 แสนล้านบาท)

สำหรับในภาพรวมนั้น ปีเตอร์ เนเจลนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของไอเอชเอส มาร์กิต คาดการณ์ว่า หากภาษีรถนำเข้ามีผลเต็มรูปแบบ ราคารถยนต์ที่ปรับตัวขึ้นตามมาจะส่งผลให้ยอดขายรถในสหรัฐลดลงเฉลี่ย 1.8 ล้านคัน/ปี จนถึงปี 2026 โดย ไอเอชเอสประเมินว่า ราคารถยนต์หรูในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5,800 ดอลลาร์ (ราว 1.81 แสนบาท) และรถยนต์ตลาดแมสจะปรับขึ้น 3,300 ดอลลาร์ (ราว 1.03 แสนบาท)

ไม่เพียงแค่ต่างชาติจะเจ็บตัวหนัก "สหรัฐ" เอง ที่ทรัมป์อ้างว่าต้องการปกป้อง ก็จะอ่วมหนักไม่แพ้กัน เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจรถยนต์และผลต่อตลาดแรงงาน

ศูนย์วิจัยด้านยานยนต์ของสหรัฐ ระบุว่า การขึ้นภาษีรถนำเข้าเป็น 25% จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐมีต้นทุนจากภาษีเพิ่มขึ้นทั้งหมด 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.59 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งจะทำให้ซัพพลายเออร์ หลายรายในสหรัฐแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมาดังกล่าวไม่ไหว

จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้ซัพพลายเออร์ ดีลเลอร์ หรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับยานยนต์ในสหรัฐที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวเสี่ยงปิดกิจการลง ซึ่งในกรณีเลวร้ายสุด อาจทำให้ตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมหายไปเกือบ 3.7 แสนอัตรา โดยอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นสร้างงานให้ชาวอเมริกันกว่า 1 ล้านอัตรา ในปัจจุบัน ตามข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ

การจะขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนนำเข้ารถยนต์จากต่างชาติของสหรัฐ จึงเปรียบเสมือนพายุลูกใหญ่ที่กำลังจะพัดถาโถมถล่มภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกในอีกไม่ช้านี้