posttoday

ปลดล็อกทรัพย์อิงสิทธิกู้ได้ หวังหนุนลงทุนอสังหาเปิดช่องเปลี่ยนมือ

15 กุมภาพันธ์ 2562

สนช.ไฟเขียวกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ แก้ข้อจำกัดของเดิม หวังหนุนลงทุนอสังหาเปิดช่องเปลี่ยนมือ ให้เช่าช่วง จำนอง ตกทอดแก่ทายาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

สนช.ไฟเขียวกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ แก้ข้อจำกัดของเดิม หวังหนุนลงทุนอสังหาเปิดช่องเปลี่ยนมือ ให้เช่าช่วง จำนอง ตกทอดแก่ทายาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้มีทรัพย์อิงสิทธิเป็นสิทธิการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์แบบใหม่ แก้ไขข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์บางประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) และพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542

ทั้งนี้ กำหนดให้ผู้เช่าตาม พ.ร.บ.นี้ สามารถให้เช่าช่วง โอนสิทธิการเช่า นำสิทธิการเช่าไปจำนอง และให้สิทธิการเช่าตกทอดแก่ทายาทได้ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการเช่าไว้แค่เพื่อพาณิชย กรรมและอุตสาหกรรมเท่านั้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากที่ตาม ป.พ.พ. ผู้เช่าไม่สามารถให้เช่าช่วง โอนสิทธิการเช่า หรือดัดแปลง ต่อเติม ก่อสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างลงบนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า

นายลวรณ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ประกอบด้วย 17 มาตรา มีหลักการและสาระสำคัญคือ กำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิ เป็นสิทธิการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี เพิ่มความคล่องตัวในการเปลี่ยนมือและใช้ประโยชน์ โดยให้ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิสามารถโอนทรัพย์อิงสิทธิ นำไปเป็นประกันการชำระหนี้โดยการจำนองและให้ตกทอดแก่ทายาทได้ นอกจากนี้ ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิยังสามารถนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่า และสามารถดัดแปลง ต่อเติม ก่อสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างลงบนอสังหาริมทรัพย์นั้นได้

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เจ้าของที่ดินที่มีโฉนดและห้องชุดตามกฎหมายสามารถก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิฝ่ายเดียวลงบนอสังหาริมทรัพย์ของตนได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี โดยการนำเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์มาจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยหากมีการจำนอง การใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ หรือมีสิทธิใดๆ ที่จดทะเบียนอยู่ไว้ก่อน เจ้าของจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้รับจำนอง ผู้รับหลักประกัน หรือผู้มีสิทธิอื่น รวมทั้งผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในอสังหาริมทรัพย์เสมือนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการจำหน่ายและจำนองอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ เมื่อทรัพย์อิงสิทธิระงับลง ให้ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิส่งมอบอสังหาริมทรัพย์คืนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานั้น โดยให้โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิดัดแปลง ต่อเติม หรือก่อสร้างขึ้นตกเป็นของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในวันที่ทรัพย์อิงสิทธิระงับลง ทั้งนี้ อาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้