posttoday

วางแผนการเงิน ฉบับคนมีคู่

14 กุมภาพันธ์ 2562

ใครหลายคนคิดว่าการแต่งงานและมีครอบครัวน่าจะเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต แต่ในความเป็นจริง

เรื่อง นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ

ใครหลายคนคิดว่าการแต่งงานและมีครอบครัวน่าจะเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต แต่ในความเป็นจริง มันกลับเป็นจุดตั้งต้นของชีวิตบทใหม่ต่างหาก สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนจะแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน ความรักแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาเรื่องการวางแผนการเงินที่ดีด้วย เพราะการที่ชีวิตครอบครัวจะประคับประคองไปได้ด้วยดี ต้องอาศัยสถานะการเงินที่ดีควบคู่กันไป

สำหรับคู่รักบางคู่อาจจะมีการวางแผนการเงินแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น ช่วงวางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับงานแต่งงานและการสร้างเรือนหอ แต่มักจะไม่ได้คิดถึงการวางแผนการเงินให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตร การสร้างกิจการเพื่อครอบครัว และค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ การวางแผนการเงินสำหรับคู่รักเพื่อเตรียมสร้างครอบครัวที่อบอุ่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

แล้วต้องพิจารณาวางแผนการเงินในเรื่องใดบ้าง สิ่งที่ควรจะพิจารณาในเบื้องต้น คือ เมื่อแต่งงานไปแล้วจะรวมกระเป๋าหรือจะแยกกระเป๋า ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน นอกจากนี้จะขอแนะนำให้แบ่งการวางแผนการเงินเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และที่สำคัญต้องเปิดอกคุยกันเรื่องการเงินให้ชัดเจน อย่าได้มีความลับต่อกันเป็นอันขาด เพราะการมีความลับต่อกันมักจะนำมาซึ่งปัญหาความไม่ไว้วางใจกัน และเกิดเป็นการทะเลาะกันได้นั่นเอง


บัญชีร่วมหรือบัญชีเดี่ยวดีกว่า?

• หากเป็นบัญชีร่วมนั้น สามีและภรรยาต่างมีสิทธิเท่ากัน ข้อดีของบัญชีร่วม (หรือรวมกระเป๋า) นั้นจะทำให้ต่างคนต่างรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการบริหารเงินของครอบครัว แต่ข้อเสียคือหากเกิดการหย่าร้าง จะจัดการการเงินส่วนนี้อย่างไร

• หากเป็นบัญชีเดี่ยว (ต่างคนต่างมีรายได้และต้องการแยกกระเป๋า) ข้อดีของการแยกบัญชีคือ ต่างฝ่ายต่างบริหารเงินของตัวเองอย่างอิสระ แต่ควรมีข้อตกลงเรื่องความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในบ้านให้ชัดเจน เช่น ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าใช้จ่ายเรื่องลูก ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น แต่ข้อเสียก็คือ ต่างฝ่ายก็อาจจะไม่ทราบสถานะทางการเงินของอีกฝ่าย หากอีกฝ่ายเกิดปัญหาทางการเงินอาจจะตั้งรับไม่ทัน เป็นต้น

จะเห็นว่าทั้งสองแบบต่างมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน จะเลือกใช้แบบไหน คู่รักหรือคู่สามีภรรยา ต้องพูดคุยตกลงกันอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินในระยะยาว

นอกจากอาจจะมีการวางแผนการเงินตามเป้าหมาย เช่น 1.เป้าหมายระยะสั้น คือ การวางแผนค่าใช้จ่ายด้วย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว 2.เป้าหมายระยะกลาง คือ การวางแผนมีลูก 3.เป้าหมายระยะยาว ที่สำคัญคือการวางแผนการศึกษาบุตรและการวางแผนเกษียณอายุด้วย