posttoday

แผนระบบชำระเงิน เชื่อมโลก-รวมเอทีเอ็ม

13 กุมภาพันธ์ 2562

ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าคนจะใช้เอทีเอ็มน้อยลง เห็นจากปัจจุบันธุรกรรมโอนจ่ายได้หายไปแล้ว เหลือแต่ถอนเงิน

ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าคนจะใช้เอทีเอ็มน้อยลง เห็นจากปัจจุบันธุรกรรมโอนจ่ายได้หายไปแล้ว เหลือแต่ถอนเงิน

**************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ระบบชำระเงินของไทยพัฒนาไปเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมเพย์ก็เกิดพัฒนาการใหม่ตามมา อาทิ คิวอาร์โค้ด การคืนภาษี ค่าธรรมเนียมช่องทางดิจิทัลถูกยกเลิก ควบคู่กับการใช้เครื่องอีดีซีกับบัตรเดบิต ตามเป้าหมายเป็นสังคมลดใช้เงินสด

เบื้องหลังของความสำเร็จ เพราะมีหัวเรือหลักอย่าง ยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย ที่มาช่วยขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในด้านการชำระเงินจนสามารถแข่งขันได้ทันกับยุคที่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มเข้ามาตีตลาด

ยศ กล่าวว่า พร้อมเพย์ไม่มีเฟสสุดท้าย มีแต่การต่อยอดการใช้งานเพิ่มเรื่อยๆ โดยในระยะอันใกล้พร้อมเพย์จะสามารถใช้โอนเงิน ชำระเงินข้ามประเทศได้ผ่านคิวอาร์โค้ด เหมือนอาลีเพย์ที่รับชำระเงินจากคนจีนที่มาไทย ในอนาคตคนไทยที่ไปต่างประเทศสามารถสแกนพร้อมเพย์ชำระเงินได้ ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นความร่วมมือกับต่างประเทศในเรื่องการชำระเงินมากขึ้น

นอกจากนี้ กำลังเร่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์พร้อมเพย์สำหรับระบบเก็บเงินปลายทาง (COD) โดยมีธนาคารเป็นตัวกลางสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขาย จากเพนพอยต์ของผู้ซื้อที่กลัวโอนเงินแล้วของไม่ส่ง หรือของส่งมาไม่ตรงปก ส่วนผู้ขายกลัวส่งของแล้วไม่ได้เงิน ส่วนนี้พร้อมเพย์จะเข้ามาช่วยในการการันตี รับโอนเงินมาพักไว้ แจ้งให้ผู้ขายเห็นว่าจ่ายจริง และเมื่อของส่งมาถึง ผู้ซื้อพึงพอใจก็ค่อยกดอนุมัติการโอน

ระบบพร้อมเพย์สำหรับ COD ต้องการร่วมมือกับอี-คอมเมิร์ซ เพื่อส่งเสริมธุรกิจค้าออนไลน์ โดยรูปแบบร่วมมือมีหลายวิธี จะทำเป็นระบบพื้นฐานกลางของสถาบันการเงินก็ได้ หรือแต่ละธนาคารทำเองโดยร่วมกับพาร์ตเนอร์ก็ได้ ซึ่งทำไม่ยาก เพราะพร้อมเพย์ได้ขึ้นระบบรีเควสต์ทูเพย์ และเพย์อะเลิร์ท ไว้พร้อมแล้ว

แม้ว่าพร้อมเพย์จะติดลมบนเป็นช่องทางโอนเงินและชำระเงิน แต่แผนการพัฒนาระบบชำระเงินยังไม่จบสิ้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่ต้องเปลี่ยนไปเมื่อคนใช้เงินสดน้อยลง โดยหนึ่งในประเด็นที่ต้องจัดการ คือ “เครื่องเอทีเอ็ม”

ยศ กล่าวว่า เอทีเอ็มสีขาว หรือ เอทีเอ็ม ไวท์ เลเบล (White Label) ที่พูดคุยกันมานานกว่า 1 ปี แต่ไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากแต่ละธนาคารลงทุนเครื่องเอทีเอ็มไม่เท่ากัน ธนาคารใหญ่ลงทุนมากกว่าธนาคารเล็ก อีกทั้งระบบเอทีเอ็มเกิดขึ้นมานาน ธนาคารใหญ่ที่มีเอทีเอ็มมากปรับปรุงการบริหารจัดการจนต้นทุนต่ำลงมาก

ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดการแชร์เอทีเอ็มได้สำเร็จ ต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่ง แนวคิดง่ายที่สุดที่จะชักชวนให้ใช้เอทีเอ็มร่วม คือ ทุกธนาคารจะได้รับผลประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารใหญ่หรือธนาคารเล็ก และคิดไปถึงประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) เช่น ภาพลักษณ์ มาร์เก็ตติ้ง ที่หายไปจากการเป็นป้ายขาว มีสิ่งใดที่จะทดแทน แม้ว่าบางธนาคารพร้อมจะเสียสละส่วนนี้ เพื่อการลดต้นทุนของอุตสาหกรรมในอนาคต

ในแง่ของผู้บริโภค ยังไม่ได้หารือถึงระดับนั้น แต่หากให้คิดเร็วๆ อาทิ ใช้บริการไวท์ เลเบล ได้ฟรี X ครั้งต่อเดือนจากนั้นเสียเงิน แต่หากใช้ครบและไม่อยากเสียเงินครั้งต่อไปก็เดินไปที่เครื่องของธนาคารเจ้าของบัตรก็ได้

1.ปัจจุบันมีเอทีเอ็มทั่วประเทศประมาณ 7 หมื่นเครื่อง มีเงินในเครื่อง 1.5 ล้านบาท หักเบิกถอนอย่างน้อยต้องมี 7.5 หมื่นล้านบาท นอนนิ่งอยู่ในเอทีเอ็ม เป็นต้นทุนที่ไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าลดลงเหลือ 5 หมื่นตู้ เงินที่นอนนิ่งจะลดลงได้เป็นหมื่นล้านบาท

2.เครื่องเอทีเอ็มเครื่องละ 3-4 แสนบาท หากต้องซื้อเครื่อง 2 หมื่นเครื่องเพื่อมาลงในจุดพลุกพล่านหรือทดแทนเครื่องเดิม ต้องหมดเงินอีก 8 หมื่นล้านบาท ให้ต่างชาติ เพราะไทยผลิตไม่ได้ ถ้าเป็นไวท์เลเบล ลดเหลือ 5 หมื่นเครื่องก็ช่วยเศรษฐกิจได้

“อีก 3-5 ปีข้างหน้าคนใช้เอทีเอ็มน้อยลง เห็นจากปัจจุบันธุรกรรมโอนจ่ายหายไปแล้ว เหลือแต่ถอนเงิน อนาคตหากจ่ายเงินผ่านโมบายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน การถอนเงินก็น้อยลงเรื่อยๆ” ยศ กล่าว

ยศ มองว่า ไม่มีทางที่ไทยจะไร้เงินสด แต่ที่เป็นได้คือสังคมใช้เงินสดน้อยลง โดยเห็นการชำระเงินผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้นเท่าตัวในแต่ละปี โดยตั้งเป้าให้เติบโตเช่นนี้ต่อไป เพื่อให้ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมลดใช้เงินสดได้สำเร็จ