posttoday

ธปท.ผ่อนกฎคลินิกแก้หนี้

13 กุมภาพันธ์ 2562

ธปท.เปิดทางลูกหนี้ นันแบงก์เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 วงเงิน 1 แสน ผ่อน 1,000 บาท/เดือน

ธปท.เปิดทางลูกหนี้ นันแบงก์เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 วงเงิน 1 แสน ผ่อน 1,000 บาท/เดือน

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ขยายเงื่อนไขโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้บัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ นันแบงก์ จากเดิมรับลูกหนี้เฉพาะที่เป็นธนาคารพาณิชย์เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ เพราะจากสำรวจมีสัดส่วนลูกหนี้กว่า 70% ของทั้งหมดเป็นลูกหนี้นันแบงก์ โดยคาดว่าจะเริ่มได้ไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่อง จากต้องรอให้การแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถรับจ้างบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของนันแบงก์มี ผลบังคับใช้ก่อน ซึ่งปัจจุบันผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมใน 2 ส่วน ประกอบด้วย คุณสมบัติการเข้าโครงการที่เดิมต้องเป็นเอ็นพีแอล ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2561 ปรับเป็นต้องเป็นเอ็นพีแอล ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 และอีกส่วนคือปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ และวิธีการชำระหนี้ ให้ยืดหยุ่น ง่าย และสอดคล้องกับสถานะลูกหนี้แต่ละรายได้มากขึ้น โดยเกณฑ์ใหม่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกันบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจสอบรายงาน ข้อมูลเครดิต

สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย และให้โอกาสลูกหนี้ผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 10 ปี ซึ่งจะทำให้ภาระที่ต้องจ่ายต่อเดือนน้อยลง เช่น หากลูกหนี้ ที่มียอดหนี้ 1 แสนบาท จะผ่อนชำระขั้นต่ำเพียง 1,200 บาท/เดือน และหากมียอดหนี้ 5 หมื่นบาท จะผ่อนชำระเพียง 600 บาท/เดือน โดยจากการสอบถามลูกหนี้ พบว่ามีลูกหนี้อย่างน้อย 300-400 ราย ซึ่งเดิมปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จหรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จะสามารถแก้ไขหนี้ได้สำเร็จเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ใหม่ 30%

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ได้เริ่มดำเนินการโครงการคลินิกแก้หนี้มีลูกหนี้มาปรึกษา 3.39 หมื่นราย และสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จและลงนามสัญญาแล้ว 1,087 ราย

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีนันแบงก์ 8 ราย จะเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.บริษัท เจเนอรัลคาร์ด เซอร์วิสเซส 2.บริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) 3.บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส 4.บริษัท บัตรกรุงศรี อยุธยา 5.บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) 6.บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส 7.บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) และ 8.บริษัท อีซี่ บาย