posttoday

10 เทรนด์อี-คอมเมิร์ซ รู้เร็ว...ขายเร็ว...รวยเร็ว

30 มกราคม 2562

ทำงานประจำก็เบื๊อ...เบื่อ คิดอยากจะออกไปทำธุรกิจส่วนตัว ก็กลัวขายสู้คนอื่นไม่ได้ เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่คนขายของแล้วทำอย่างไรถึงจะเข้าหาคนซื้อได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก

เรื่อง ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ทำงานประจำก็เบื๊อ...เบื่อ คิดอยากจะออกไปทำธุรกิจส่วนตัว ก็กลัวขายสู้คนอื่นไม่ได้ เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่คนขายของแล้วทำอย่างไรถึงจะเข้าหาคนซื้อได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก

“อี-คอมเมิร์ซ” ตอบโจทย์คนทำธุรกิจได้หมด จริงอยู่ว่า อี-คอมเมิร์ซ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย ร้านค้าจำนวนมากขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม หรืออาศัยช่องทางออนไลน์กันแล้ว แต่เทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดวิธีการทำตลาดหรือเครื่องมือใหม่ๆ มาสร้างโอกาสมากขึ้น

ในงานสัมมนา ก้าวทันก่อนใคร E-Commerce Trends 2019 ที่ธนาคารกรุงเทพได้จัดขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอีได้รับรู้และเร่งปรับตัวรองรับกับเทรนด์ใหม่ของธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิม

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม (Tarad.com) อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เจาะลึกอี-คอมเมิร์ซเทรนด์โลกและไทย 2019 โดยได้ยก “10 เทรนด์ อี-คอมเมิร์ซ” ที่มาแรงในปี Piggy Gold

1.JSL E-Marketplace อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นแพลตฟอร์มเจ้าใหม่ แต่ JSL ในที่นี้ คือ JD Shopee และ Lazada ซึ่งเป็น Survivor ของตลาดแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซในไทย โดยจากนี้จะเห็น 3 ค่ายนี้แข่งขันดุเดือดมากขึ้น การที่แพลตฟอร์มจ้างพรีเซนเตอร์ชื่อดังบ่งบอกถึงความจริงจังในการรุกตลาดไทย ส่วนดีกรีความเดือดก็แค่ ใครหมดเงินก่อนคนนั้นแพ้!

2.สินค้าจีนบุกตลาด ไทยและอาเซียนมากขึ้น เป็นเรื่องผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่ปรับตัวออกจากออฟไลน์สู่ออนไลน์เท่านั้น แต่ต้องปรับไปถึงกระบวนการและคุณภาพด้วย เพราะจากเทรนด์การค้าแบบอี-คอมเมิร์ซ ทำให้ธุรกิจไทยไม่ได้แข่งกับคนไทยอย่างเดียว แต่หมายถึงต้องแข่งขันกับต่างชาติด้วย โดยเฉพาะจีน!

3.แบรนด์จะเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องนำแบรนด์กระโดดเข้าสู่อี-คอมเมิร์ซ หรืออีกนัยหนึ่ง ต้องรู้จักใช้โลกออนไลน์สร้างแบรนด์ที่น่าเชื่อถือขึ้นมา

4.ออนไลน์และออฟไลน์ การมีหน้าร้านอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ ต้องมีหน้าร้านออนไลน์ด้วย จึงจะทำให้การค้าไปได้ดี

5.ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซช่วยธุรกิจ เว็บไซต์หรืออี-คอมเมิร์ซต่างๆ จะไม่ใช่ช่องทางให้วางสินค้าหรือมีหน้าร้านบนออนไลน์ แต่จะเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีทำธุรกิจด้วย อย่างเว็บไซต์ ตลาดดอทคอม จะช่วยทำมาร์เก็ตติ้งให้ลูกค้า หรือผู้ที่เข้ามาใช้บริการ

6.บริการสนับสนุนอี-คอมเมิร์ซเติบโตอย่างรุนแรง ระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็มของอี-คอมเมิร์ซกำลังถูกเติมเต็ม เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับธุรกิจระบบชำระเงินโลจิสติกส์ที่จะง่ายขึ้น โดยเฉพาะโลจิสติกส์ ที่มีทางเลือกมากมายไม่ว่าไปรษณีย์ไทย KERRYExpress SCGExpress ALPHA และที่กำลังมาคือ บริการ Warehouse&Logistics ไว้พักของก็ได้และส่งของให้ด้วย

7.ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น หรือ Affiliate Marketing ที่แพลตฟอร์มจะมาเข้าช่วยโปรโมทสินค้าให้เรา เช่น เว็บ Dealcha.com เป็นเว็บที่ซื้อสินค้าแล้วได้เงินคืน หรือ Cashback หรือบริการ Dropship เป็นนายหน้าต่างชาติเอาสินค้าเราไปโปรโมท เมื่อมีคำสั่งซื้อเว็บนี้ก็จะจัดการไปถึงส่งสินค้าให้ผู้ซื้อเลยทีเดียว

8.การค้าขายออนไลน์ระหว่างประเทศ Cross Borderจะเติบโตขึ้นเป็นเทรนด์ที่หนีไม่พ้น เพราะถ้าเราไม่ไปต่างชาติก็มาพาเราไป อย่างแอมะซอนเว็บไซต์ขายของระดับโลก ได้ทีมไทยเลือกสินค้าไทยเอาไปขายบนแอมะซอน ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโรงงานหรือเป็นคนขายของ ควรทำสินค้าให้มีคุณภาพรองรับการขายสินค้าไปยังต่างประเทศด้วย

9.โซเชียลคอมเมิร์ซ ปีที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียกระโดดมาทำโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น อย่างเฟซบุ๊ก เพจถูกนำไปใช้เป็นช่องทางขายสินค้าจนขยายบริการมาร์เก็ตเพลส แชตบอต และเพย์เมนต์ แต่ให้จับตาที่จะมาแรงกว่าคือ การขายผ่านเฟซบุ๊กกรุ๊ปและเฟซบุ๊กไลฟ์

เฟซบุ๊กกรุ๊ป เป็น Super Seqment Commerce แหล่งรวมคนชอบหรือสนใจสิ่งเดียวกัน เป็นจุดเริ่มของการเกิดธุรกิจในหลัก 3 C ได้แก่ Content เอาข้อมูลข่าวสารมาแชร์กัน ตามมา Community เป็นสังคม มีกฎกติกา และเกิด Commerce ทำการค้ากัน ขณะที่เฟซบุ๊กไลฟ์มีบทบาทมากขึ้นมีไลฟ์ขายทองคำ ไลฟ์ขายส้มตำ ด้วยเทคนิคการขายเพื่อตรึงคนให้อยู่นานที่สุด

ไลน์มี ไลน์สแควร์ สร้างชุมชนที่คิดเหมือนกันมีเป้าหมายชัดคือ Babyboomer และ Genx ปีที่ผ่านมาไลน์ขยับทำเพย์เมนต์ด้วยการจับมือเอไอเอสและแรบบิต ทำให้แรบบิตไลน์เพย์แข็งแรงมากขึ้น ไลน์พยายามเป็นวีแชตของจีนเป็น Everyday App ก้าวสู่ Super App

10.การตลาดรูปแบบใหม่ที่ฉลาดมากขึ้น การทำตลาดแบบใหม่ผ่าน Influencer เพราะพฤติกรรมคนไม่เชื่อโฆษณาแต่เชื่อการบอกต่อ วิธีเลือกจะไม่ใช่ผู้ที่มียอดฟอลหลักล้าน (Macro Influencer) ซึ่งแพงและเข้าถึงคนได้เพียง 10% แต่จะเลือก Micro Influencer ยอดฟอลหลักร้อยหลักพันที่ถูกกว่าและเข้าถึงได้ 40% ผนวกกลยุทธ์พูดถึงสินค้าพร้อมกันทำให้ยอดขายโตขึ้น 20% อีกรูปแบบหนึ่งคือการนำ Marketing Automation ระบบอัตโนมัติตั้งแต่แยกเซ็กเมนต์ลูกค้าไปถึงการติดตาม ส่งข้อมูล หรือแนะนำ

10 เทรนด์ดังกล่าวนี้มาแรงและมาแน่ ใครทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และเข้าถึงได้ก่อน ยิ่งได้เปรียบในการทำธุรกิจ ตลาดกว้างขึ้น ยิ่งมีโอกาสกว้างในการเพิ่มยอดขาย เพราะฐานลูกค้าไม่ใช่แค่ 60 ล้านคนอีกแล้ว แต่ประชาชนร้อยล้านพันล้านคนทั่วโลกสามารถเป็นลูกค้าเราได้ทั้งสิ้น