posttoday

ร้อนเงิน...เงินร้อน

23 มกราคม 2562

เพิ่งผ่านต้นเดือนมาหยกๆ เงินในกระเป๋าก็บ๋อแบ๋ เครียดจริงๆ ทำยังไงดี ทำยังไงดี แค่อยากได้เงินมาหมุนในระยะสั้นๆ

เรื่อง กัลย์ทิชา นับทอง

เพิ่งผ่านต้นเดือนมาหยกๆ เงินในกระเป๋าก็บ๋อแบ๋ เครียดจริงๆ ทำยังไงดี ทำยังไงดี แค่อยากได้เงินมาหมุนในระยะสั้นๆ เราจะทำยังไง เงินที่มีก็ไม่พอ สงสัยจะต้อง...ยืมเพื่อนดีมั้ย หรือเข้าโรงรับจำนำดี กู้นอกระบบเลยละกัน ขายทองที่มีอยู่ดีมั้ยนะ หรือใช้บัตรเครดิตมากดเงินสดดี หรือจะใช้บัตรกดเงินสด จะเลือกชอยส์ไหนถึงจะดีที่สุด

ยืมเพื่อน

เริ่มที่ชอยส์แรกละกัน ยืมเพื่อน วิธีนี้น่าจะดี เพราะบางครั้งก็ไม่ต้องเสียดอก หรืออาจจะมีให้เพื่อนนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ไม่เยอะมากเหมือนวิธีอื่น

แต่จะยืมเพื่อนแล้วเพื่อนจะให้ยืมมั้ย? คงเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก อีกทั้งความเสี่ยงอีก หากให้ยืมไปแล้วเมื่อไหร่จะคืน แล้วจะคืนตรงเวลาจริงหรือเปล่า ประเด็นสำคัญคือให้ยืมไปแล้วจะเป็นหนี้สูญหรือไม่ ดังนั้นคนที่จะให้ยืมก็จะต้องคิดให้ดี อีกทั้งคนที่ยืมก็จะต้องเครดิตดีมากๆ ซึ่งหากเพื่อนให้ยืมเงินก็ดีไป ทางออกของปัญหาร้อนเงินก็หมดไป

เมื่อเพื่อนไม่ให้ยืมเราจะทำยังไงต่อ ถึงแม้ยอดเงินในการยืมไม่จะมากนัก แต่ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ใครก็อยากเก็บเงินเอาไว้ให้อุ่นกระเป๋ากันทั้งนั้น

เข้าโรงรับจำนำ

ทางเลือกต่อมา เมื่อเพื่อนไม่มีให้ยืม ทางเลือกต่อมาเราก็เอาของที่มีอยู่ไปตึ๊งแทนละกัน อะไรคือตึ๊ง แล้วตึ๊งคืออะไร หลายคนอาจสงสัยและหลายคนอาจจะคุ้นชิน ก็คือการแปลงสินทรัพย์เป็นเงินโดยการเข้าโรงรับจำนำ วิธีนี้หลายคนอาจจะผ่านมาแล้วทั้งนั้น แม้ดอกเบี้ยจากการนำของไปตึ๊งจะไม่มากนัก และเป็นอัตราเดียวกันทั้งของรัฐบาลและเอกชน

ทั้งนี้ หากคิดจะเข้าโรงจำนำจริงๆ สิ่งที่จะตามมานั้น จะต้องคำนึงถึงมูลค่าสินค้าที่เอาไปจำนำด้วย ใช่ว่าทุกอย่างจะสามารถจำนำได้ แล้วตอนนี้เรามีอะไรที่จะเอาไปจำนำได้บ้าง มีทองคำ มือถือ ทีวี ตู้เย็น

ยกตัวอย่างแบบเห็นภาพกับสินทรัพย์สุดฮิตคือ ทองคำ สมมติว่าเรามีทองคำอยู่ 1 บาท ต้องการเงิน 1.5 หมื่นบาท เวลาที่เราเข้าโรงจำนำ เขาจะคิดราคาทองคำในตลาดช่วงนั้น เช่น วันนี้ราคาทองคำในตลาดอยู่ที่ 1.8 หมื่นบาท/บาททองคำ (แอบกระซิบนิดนึง เขาคิดราคารับซื้อคืนนะ ไม่ใช่ราคาขายออก) มาต่อกันดีกว่า ขั้นตอนอื่นคงไม่จำเป็นมาก
มาที่ดอกเบี้ยกันดีกว่า

อย่างเช่น เราต้องการเงินต้น 1.5 หมื่นบาท เราจะอยู่ในเรตดอกเบี้ย 1.00% ต่อเดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนเราจะต้องนำดอกเบี้ยไปส่งให้โรงรับจำนำ หรือเราเรียกว่าส่งดอก เดือนละ 150 บาท และการส่งดอกจะส่งจนกว่าเราจะเอาเงินไปจ่ายต้นหมด แล้วได้รับทองคำกลับมานั่นเอง

นอกจากโรงรับจำนำ ในส่วนของสินทรัพย์ที่เป็นทองคำนั้น เราสามารถนำทองคำไปจำนำที่ร้านทองได้อีกด้วย แต่อัตราดอกเบี้ยนั้นอาจจะเเพงกว่าโรงรับจำนำเล็กน้อย แต่ด้วยจำนวนร้านทองที่มีเยอะ ทำให้หาได้ง่ายกว่าโรงรับจำนำ ร้านทองจึงถือเป็นทางเลือกที่คนสนใจในช่วงที่ขัดสนได้ดี

ไม่ว่าจะเข้าโรงรับจำนำ หรือจำนำร้านทอง ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะดอกเบี้ยน้อย แต่หากนานๆ ไปยอดของดอกเบี้ยที่เราจ่ายไปก็ยังมากอยู่ดี ทางที่ดีหาเงินเอาทองเราออกมาดีกว่า เพราะหากไม่ส่งต้น ส่งดอก ครบกำหนดที่โรงรับจำนำวางไว้ ทองเราก็จะโดนยึดอัตโนมัติ ถือว่าน่าเสียดายมาก

กดบัตร (เครดิต-เงินสด)

ยืมเพื่อนก็แล้ว อีกทั้งไม่มีสินทรัพย์ให้ตึ๊ง เราจะทำยังไงดี มีทางเลือกอีกมั้ย ตอบเลยว่ามีค่ะ กดจากบัตรดีมั้ย!!! แล้วกดจากบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดดี

บัตรเครดิต อย่างที่ทราบว่าบัตรเครดิตสามารถกดเงินสดได้ (ถ้าวงเงินไม่เต็ม) ตอนกดนี่อาจจะดีใจได้เงินมาหมุน แต่ตอนจ่ายคืนนี่สิ รู้หรือไม่ว่าการกดบัตรเครดิตมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 15-18% อีกทั้งยังต้องเสียค่ากดอีกด้วย ถือว่าเสียสองเด้ง สองเด้งยังไง เด้งแรก ตอนกดเราก็จะเสียเงินจากการกดเงิน 3% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียม และจะคิดดอกเบี้ยที่ 20% ต่อปี จากการกดเงินสดของบัตรเครดิตนั้นๆ โดยคิดคำนวณป็นรายวัน และเริ่มตั้งแต่วันที่กดและได้เงินออกจากตู้เอทีเอ็ม รวมถึงยังคิดภาษี หรือแวตอีก 7% ด้วยนะ

บัตรกดเงินสด กดเงินสดได้เหมือนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิตทั่วไป ที่ต่างกันคือ เราจะไม่เจอค่าธรรมเนียม 3% แต่เมื่อเทียบดอกเบี้ย การใช้บัตรกดเงินสดนั้นจะเสียดอกเบี้ยมากกว่าบัตรเครดิต คือประมาณ 28% ต่อปี โดยคำนวณเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่กดเงิน

ยกตัวอย่าง ระหว่างบัตรกดเงินสดและบัตรเครดิต โดยให้มีเงินต้นที่ 1 หมื่นบาท ระยะเวลา 25 วันเท่ากัน จะพบว่า

บัตรเครดิต เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 3% ภาษี 7% ดอกเบี้ย 20% จะได้ว่า เงินต้น 10,000 x 3% x 7% = 321 บาท ดอกเบี้ยเงินต้น 10,000 x 20% x 25/365 = 137 บาท เมื่อนำทั้งเงินต้น ค่าธรรมเนียม ภาษี ดอกเบี้ย มารวมกันเท่ากับ 10,000 + 321 + 137 = 10,458 บาท ดังนั้นเราจะต้องจ่ายคืน 10,458 บาท

บัตรกดเงินสด เราจะเสียดอกเบี้ย 28% เงินต้น 10,000 x 28% x 25/365 = 230 บาท เมื่อนำเงินทั้งหมดมารวมกับ 10,000 + 192 = 10,192 บาท ดังนั้นเราจะต้องจ่ายเงินคืน 10,192 บาท

แม้บัตรกดเงินสดจะมีดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัตรเครดิต แต่เมื่อพิจารณาหลายๆ อย่างแล้ว บัตรเครดิตจะทำให้เราเสียเงินมากกว่าบัตรกดเงินสด

สำหรับคนที่ไม่มีบัตรกดเงินสดหรือบัตรเครดิต บางคนอาจจะหันไปพึ่งเงินร้อน จากการกู้นอกระบบ จากชายชุดดำใส่หมวกกันน็อก อาบัง อาเจ็ก ซึ่งเห็นได้เยอะตามต่างจังหวัด หรือตามชุมชน แม้เงินกู้นอกระบบจะเป็นอีกวิธีที่จะทำให้เรามีเงินหมุนเวียนในยามที่ร้อนเงินก็ตาม

แต่ใครจะรู้ว่า การกู้นอกระบบนั้น ดอกเบี้ยมหาโหด อาจจะเพราะว่าได้เงินเร็ว แต่การได้เงินเร็วและไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ก็จะทำให้เราต้องจ่ายเงินเยอะขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 20% ต่อเดือนของเงินต้น กล่าวคือ กู้ 1 หมื่นบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 2,000 บาท รวมแล้วต้องจ่ายเงินจากการกู้ 1.2 หมื่นบาท/เดือน (หากจ่ายครบทั้งต้นและดอก) แต่หากจ่ายไม่ครบทุกเดือนก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ย 2,000 บาท ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่อนต้นหมด

ร้อนเงิน...เงินร้อน

เจ้าหนี้นอกระบบก็จะมีทั้งแบบเก็บดอกรายวัน เก็บดอกรายเดือน หากเราไม่สามารถส่งดอกได้ตามกำหนด วิธีการทวงหนี้ก็จะเป็นอย่างที่เห็นตามข่าวในโทรทัศน์นั่นเอง

สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์

และจากการทวงหนี้มหาโหดที่เกิดขึ้น ทางรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย ป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชนในเวลาเดียวกัน จึงได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่

นั่นก็คือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี เจ้าหนี้นอกระบบก็ให้เข้าสู่ระบบ ให้มีการทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ลูกหนี้ก็สามารถกู้ได้ง่ายขึ้น และได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกเจ้าหนี้ขูดรีดจนเกินไป

แม้จะมีหลากหลายวิธีในการหาเงิน ในช่วงที่ร้อนเงิน แต่หนทางที่ดีที่สุดคือ การไม่เป็นหนี้ แต่มีเงินใช้และเงินออมที่เพียงพอในอนาคต ไม่ต้องเดือดร้อนไปกู้ยืมใคร ซึ่งหนทางสร้างความมั่งคั่งก็มีอย่างหลากหลายให้เลือกนำมาใช้ ดังนั้น เรามาเริ่มสร้างความมั่งคั่งทางการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันข้างหน้าที่สุขสบายกันเถอะ