posttoday

ธนาคารกำไรเริ่มหาย?

22 มกราคม 2562

สวัสดีท่านผู้อ่านครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทยอยประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ออกมาแล้ว

เรื่อง แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต

สวัสดีท่านผู้อ่านครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทยอยประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ออกมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามคาด แต่สิ่งที่ทุกคนน่าจะพอสังเกตได้คือ แทบจะไม่เห็นกำไรของธนาคารเติบโตพุ่งเหมือนเมื่อหลายปีก่อนอีกแล้ว โดยสาเหตุเกิดจากอะไร และมีผลกระทบอย่างไร ผมจะวิเคราะห์ให้ผู้อ่านดู และลองเทียบกับสถานการณ์ของธนาคารทั่วโลกนะครับ

ขอเริ่มที่ 3 ธนาคารใหญ่ที่ประกาศผลการดำเนินงานมาแล้ว เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศกลยุทธ์ Upside Down ซึ่งน่าจะเป็นธนาคารที่จริงจังในเรื่อง Digital Transformation มากที่สุดในเมืองไทย ได้ประกาศผลกำไรปี 2561 ที่ 40,068 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมลดลงไปราว 5% ซึ่งเกิดจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมบนธุรกรรมออนไลน์ ทั้งนี้จากการที่ SCB เป็นธนาคารที่ริเริ่มการยกเลิกค่าธรรมเนียมเป็นเจ้าแรก เพื่อหวังโกยฐานลูกค้าจากธนาคารอื่น (ซึ่งก็ไม่สำเร็จเพราะธนาคารอื่นๆ ก็ทำตามจนเป็น Halo Effect) รวมถึงหวังว่าเมื่อมีธุรกรรมผ่านมือถือเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็จะได้ข้อมูลเพื่อมาทำการปล่อยกู้ออนไลน์ เพื่อจะได้รายได้ชดเชยค่าธรรมเนียมที่หายไป (ก็ยังไม่สามารถที่จะให้ออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทันที เนื่องจากต้องรอกฎระเบียบและกระบวนการอีกพอสมควร โดยคาดว่าอาจะต้องรออีก 1-2 ปี) ส่วนค่าใช้จ่ายของธนาคารก็ยังสูงขึ้น 12% (การลดสาขาและจำนวนพนักงานอาจจะทำได้ไม่เร็ว)

สำหรับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ก็มีประกาศตัวเลขผลการดำเนินงานในปี 2561 ซึ่งออกมาดูดีทีเดียวคือมีกำไรสุทธิ 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% แต่เหตุผลของกำไรที่เพิ่มขึ้นก็มาจากการตั้งค่าสงสัยเผื่อหนี้จะสูญลดลง ซึ่ง NPL ของ KBANK เองก็ยังสูงขึ้นถึง 3.34% (สูงกว่า SCB ที่ 2.85% และ Krungsri ที่ 2.06%) ไปดูที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ลดลงไปเกือบ 10% หรือกว่า 5,700 ล้านบาท (ซึ่งน่าจะเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีฐานลูกค้ารายย่อยมากที่สุดเช่นกัน)

มาดูต่อที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งประกาศผลกำไรที่ตรงกันข้ามกับอีกสองธนาคารคือ กำไร 2.48 หมื่นล้านบาท โต 7% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็ยังโตอีกถึง 7% แม้จะมีการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินออนไลน์ แต่ก็ได้ค่าธรรมเนียมอื่นมาชดเชย และอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ก็ลดลงเหลือ 47% (ซึ่งจะสูงกว่า Kbank ที่ 44%) ส่วน NPL ของกรุงศรีเองก็ต่ำที่สุดในตลาดจากตัวเลขของทั้ง 3 ธนาคาร แต่ดูในภาพรวมแล้วเราจะเห็นได้ว่าธนาคารทุกแห่งต่างเร่งปรับตัวอย่างมากที่จะทำอย่างไรเพื่อให้รายได้ลดในอัตราที่น้อยที่สุด และเพื่อที่จะได้ข้อมูลนำมาปล่อยสินเชื่อ (Information Based Lending) ซึ่งก็จะเริ่มเห็นภาพในปีนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่าย โดยการหาจำนวนพนักงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักของธนาคารอยู่ที่เงินเดือน)

ธนาคารกำไรเริ่มหาย?

ธนาคารกำไรเริ่มหาย?

ธนาคารกำไรเริ่มหาย?

ธนาคารกำไรเริ่มหาย?

คราวนี้มาดูที่ผลประกอบการทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขสิ้นปี 2560 ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่ารายได้หายออกจากไปธนาคารถึง 17% และที่น่าตกใจมากที่สุดคือสหราชอาณาจักรที่โดนไปถึง 63% แคนาดา -47% และออสเตรเลีย -38% รวมถึง อเมริกา -19% ประเทศที่น่าแปลกใจคือ จีน ที่ลดลงไปแค่ 7% ทั้งๆ ที่เรานึกว่าธุรกรรมการส่วนใหญ่ไปเติบโตที่ Fintech ยักษ์ใหญ่อย่าง Alipay หรือ Wechat Pay แต่รัฐบาลจีนก็ไม่ปล่อยให้แบงก์ต้องสูญเสียรายได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบงก์รัฐ) ก็ออกกฎหมายให้ธุรกรรม Fintech ต้องผ่านธนาคารและเสียค่าธรรมเนียมให้ด้วย

ย้อนกลับมาดูที่สหราชอาณาจักร ซึ่งรายได้หายไปอย่างฮวบฮาบ ก็เพราะเป็นผลจากการที่รัฐบาลเปิดเสรีทางด้าน Fintech โดยเปิด Open API Banking (ให้ธนาคารสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ทั้งหมดถ้าลูกค้ายินยอม) ซึ่งรัฐยึดความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก และประชาชนเองก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งเป็นหลัก ทำให้มี Startup หลายบริษัทได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมข้อมูล และการบริการของทุกธนาคารไว้ในที่เดียว อาทิ Revolut หรือ Monzo ที่เติบโตเป็นระดับ Unicorn กันแล้วทั้งคู่

จากสถานการณ์ตัวเลขและภาพรวมที่ได้เล่ามาทั้งหมดนั้น ผมพอจะสรุปได้ว่าธนาคารในประเทศไทยยังได้รับผลกระทบ จาก Fintech Startup น้อยมาก ส่วนมากจะเป็นผลจากการที่ธนาคารลดค่าธรรมเนียมเอง เพื่อดึงลูกค้าที่ใช้ Fintech อย่าง TrueMoney หรือ Rabbit LINE Pay ให้มาใช้ Mobile Banking

ในขณะที่ต่างประเทศนั้นได้รับผลกระทบเต็มๆ ไปแล้ว ซึ่งเราก็คงต้องมาดูกันต่อว่าหากธนาคารต้องการเพิ่มกำไร จะสามารถเอาข้อมูลจำนวนมากที่ได้มาปล่อยกู้ได้หรือไม่ หรือลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ว่าจะหาวิธีใดมาใช้ โดยก็อาจจะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง หรือพัฒนาร่วมกับ Fintech Startup

ปีนี้เราคงได้เห็นอะไรหลายอย่างที่น่าตื่นเต้นสำหรับธนาคารไทยครับ แล้วผมจะมาอัพเดทให้ทุกท่านกันต่อไปครับ