posttoday

ปี'61 แบงก์ฟันกํไร 1.54 แสนล้าน

19 มกราคม 2562

ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทยอยประกาศผลดำเนินงานงวดปี 2561 โดยธนาคาร 8 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 1.54 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.53%

 

ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทยอยประกาศผลดำเนินงานงวดปี 2561 โดยธนาคาร 8 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 1.54 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.53% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.48 แสนล้านบาท เช่น ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.14% จากปีก่อน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีกำไรสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากปีก่อน และธนาคารกรุงเทพ มีกำไรสุทธิ 3.53 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.03% เมื่อเปรียบเทียบงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท ธนาคารเกียรตินาคิน มีกำไรสุทธิ 6,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,377 ล้านบาท หรือ 4.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.39%

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,750 ล้านบาท หรือ 9.17% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินเพิ่มขึ้นจากธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,976 ล้านบาท หรือ 2.98% หลักๆ เกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.96%

ณ วันที่ 31  ธ.ค. 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 จำนวน 2.54 แสนล้านบาท หรือ 8.76% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ และการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้ สินเชื่อ ณ วันที่ 31  ธ.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34% ขณะที่สิ้นปี 2560 อยู่ที่ระดับ 3.30% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธ.ค 2561 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 160.60% จากระดับ 148.45% ณ สิ้นปี 2560 อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 18.32% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.90%

ณัฐชาต เมฆาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ทรีนีตี้ กล่าวว่า ภาพรวมของธนาคารที่ประกาศกำไรออกมาถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดได้ประมาณการไว้ ส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น จากการตั้งสำรอง ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อก็ยังไม่สดใสนัก

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ได้ปรับลดประมาณการกำไรของธนาคารไทยพาณิชย์ลงหลังกำไรต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มาก บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ของ SCB ลง 14% จาก Credit Cost ที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีกำไร 4 หมื่นล้านบาท ทำได้เพียงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2561 และลดราคาเป้าหมายลงมาอยู่ที่ 145 บาท

บล.หยวนต้า ระบุว่า SCB กำไรออกมาต่ำกว่าคาดมาก จากการตั้งสำรองสูงกว่าคาดการณ์ ทำให้กำไรหดตัว ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนและจากไตรมาสก่อนหน้า โดยรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4 ที่ 7,100 ล้านบาท ลดลง 23% เมื่อเปรียบเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน และ 32.6% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ต่ำกว่าคาดถึง 30% ส่งผลให้ปี 2561 อยู่ที่ 4 ต่ำกว่าคาด 7.4%

ดังนั้น จึงลดประมาณกำไร ปี 2562- 2563 ลง 8.6% และ 6.1% ตามลำดับ ทำให้กำไรปี 2562 อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท และ 4.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 10.5% จากปี 2562 ปรับลดราคาเหลือ 155 บาท แนะนำซื้อ คาดกำไรจะฟื้นตัวจากการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่ รวมถึงประมาณการอาจมี Upside หากการบริหารค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าคาด และระยะยาวผลบวกจาก SCB Transformation ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก

ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่าธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิปี 2561 ต่ำที่เราคาดไว้ราว 5% โดยหลักมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สูงกว่าที่ประมาณการไว้