posttoday

แบงก์อิสลามฟื้นพลิกกำไรตั้งเป้าขยายลูกค้าผ่านออนไลน์

18 มกราคม 2562

ธนาคารอิสลามโชว์ผลทำกำไรในรอบ 4 ปี เร่งพัฒนาระบบโมบายแบงก์กิ้ง เพิ่มความสะดวกสบายทางการเงินให้ลูกค้า

ธนาคารอิสลามโชว์ผลทำกำไรในรอบ 4 ปี เร่งพัฒนาระบบโมบายแบงก์กิ้ง เพิ่มความสะดวกสบายทางการเงินให้ลูกค้า

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง คนร.ได้พิจารณาความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูรัฐของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โดยให้ออกจากแผนฟื้นฟูได้ เพราะมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจากการเพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2561

นอกจากนี้ ในปี 2561 ผลประกอบการ ของ ธอท.มีกำไรที่สูงกว่าแผนงาน แต่ยังมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) สูงกว่าแผนเล็กน้อย และมีการปรับปรุงระบบการทำงานซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีต และสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการในอนาคตของ ธอท.ได้

นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย ผู้จัดการ ธอท. กล่าวว่า ปี 2561 ถึงแม้ธนาคารยังมีหนี้ NPF สูงกว่าแผนเล็กน้อย แต่การดำเนินการของธนาคารทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในช่วง 4 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาธนาคารมีการพัฒนากระบวนการและระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการกำกับดูแล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในการสร้างความยั่งยืนทางการเงินสู่การเติบโตของธนาคารในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ที่ประชุม คนร.จึงได้มีมติให้ธนาคารออกจากแผนฟื้นฟูและออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร โดยมอบหมายให้ทางกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของธนาคารตามปกติต่อไป

หลังจากนี้ธนาคารก็จะมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับการ ให้บริการทางการเงินเพื่อสร้างความทัดเทียมในการให้บริการทางการเงินและ เพิ่มความสะดวกสบาย โดยยังคงให้ความสำคัญ และยึดมั่นในพันธกิจในการให้บริการลูกค้ามุสลิม รวมทั้งพัฒนาบริการใหม่ๆ อย่างโมบายแบงก์กิ้งเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิต ในปัจจุบัน และสนองความต้องการของลูกค้า

นายวุฒิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีผลการดำเนินงานกำไรสุทธิเบื้องต้นกว่า 500 ล้านบาท ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 หลังจากขาดทุนมา 4 ปี ซึ่งหลังจากที่ธนาคารได้รับการเพิ่มทุนจำนวน 1.8100 หมื่นล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย เมื่อช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นส่วนใหญ่โดยกระทรวงการคลังมีสัดส่วนที่ 99.59% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ ธอท.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งที่ 2 ที่ คนร.เห็นชอบให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 7 แห่ง โดยรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ คนร.เห็นชอบให้ออกจากแผนฟื้นฟูในปี 2561 ที่ผ่านมา คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอแผนเพิ่มทุนอีก 8,000 ล้านบาท