posttoday

ยกระดับไทยสู่ "สังคมไร้เงินสด"

14 มกราคม 2562

จากการศึกษาพบว่าระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศ จากการลดต้นทุนที่มาจากธุรกรรมเงินสด

จากการศึกษาพบว่าระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศ จากการลดต้นทุนที่มาจากธุรกรรมเงินสด

******************************

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง / ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

เป็นความชัดเจนที่รัฐบาลตั้งใจจะให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่เป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันวางแผนพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ (National e-payment) ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกันเป็นขั้นเป็นตอน ส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมดำเนินโครงการ

จากการศึกษาพบว่า ระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศ จากการลดต้นทุนที่มาจากธุรกรรมเงินสด และการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของรัฐบาล โดยการจัดการบริหารเงินสดนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่ เช่น ความเสี่ยงต่อการสูญหาย การขนส่ง การผลิต และการจัดเก็บรักษา

ธปท.ได้เคยประมาณการว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการเงินสดนั้นอยู่ที่ 4% ถึง 9% ของทุกๆ มูลค่าการซื้อขายซึ่งตามการประมาณการของสมาคมธนาคารไทย e-payment มีความสามารถในการกำจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้กว่า 1 แสนล้านบาท/ปี เนื่องจากระบบดังกล่าวสามารถลดการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ จำกัดความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินสด และลดภาระด้านเอกสารในการทำธุรกรรมทางการเงิน

สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (เคบีทีจี) ผู้เป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบการชำระเงิน กล่าวว่า ไทยได้ผ่านขั้นแรกของการเป็นสังคมไร้เงินสดไปแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐที่เป็นการคลังอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ แต่ภาคประชาชนได้เริ่มไปแล้วแต่ยังต้องทำเพิ่มอีกเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย

“ระบบพร้อมเพย์เขาทำได้ดี ขณะนี้คนเข้าใจแล้ว แต่ถ้าจะให้ไปถึงจุดที่เป็นแคชเลสโซไซตี้ 100% เราต้องโฟกัสมากกว่านี้รัฐบาลต้องขจัดอุปสรรค ส่งเสริมในเรื่องที่ควรทำ เราต้องมองให้ชัด ถ้าเป็นอุปสรรคอย่าเพิ่งเอาเข้ามา ถ้าเป็นเรื่องส่งเสริมก็รีบทำ จะโปรโมทอะไรทำให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เช่น บอกต้นทุนเงินสดสูง เราบอกว่าต้นทุนให้กับใคร ใครจ่าย ถ้าให้คนใช้เงินสดจ่าย คนจะใช้เงินสดน้อยลง แต่ถ้าบอกว่าต้นทุนเงินสด รัฐบาล แบงก์ เป็นคนรับภาระ คนก็จะใช้เงินสดอยู่ ง่ายสุดคือคอนโทรลด้วยนโยบายของต้นทุน” สมคิด กล่าว

นอกจากนี้ ถ้าจะทำให้ได้ผลจริงๆ ต้องเกิดความร่วมมือในผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้คุมกฎ ธนาคาร ร้านค้า ผู้ซื้อให้ไปในทางเดียวกัน ให้เกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ ว่าสิ่งที่ทำไม่เกิดผลเสีย ร้านค้าที่รับก็ไม่ได้เสียอะไร ไม่กระทบอะไร ได้ประโยชน์ คนซื้อก็ส่งเสริมให้คนอยากใช้มากขึ้น ช่วยให้ต้นทุนต่ำลง มีโปรโมชั่นราคาสินค้า เพื่อให้เขาคุ้นเคยสะดวกสบาย มันต้องมองเป็นระบบ ไม่ใช่แค่บอกว่าผมมีมือถือจ่ายเงินด้วยมือถือคือ Cashless Society

สมคิด ยกตัวอย่าง ประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จกับการเปลี่ยนไปเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็ว เขาใช้วิธีให้รัฐบาลส่งเสริม ทุกร้านค้าเป็นแคชเลสหมด เป็นอาลีเพย์ อาลีแคช รัฐบาลเริ่มโปรโมทเป็นเมืองๆ ปูพรมทำทั้งเมืองจนสำเร็จ ก็จะย้ายไปทำในเมืองอื่นต่อไป รัฐบาลต้องออกมาช่วย มันต้องเคลื่อนไปพร้อมๆ กันเป็นองคาพยพ ต้องมีอินฟราสตรักเจอร์ร้านค้า ของคนซื้อ คนซื้อใครมีโมบายก็ใช้ได้ การสื่อความถึงประโยชน์และโทษที่เกิดจากการใช้ ทำได้ไม่ยากเย็น

“หากรัฐบาลมุ่งทำอย่างจริงจัง คิดว่าใน 3 ปีจะเห็นประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์ อย่าเอาเรื่องอะไรมาขวาง เช่น ภาษี ทำแคชเลสให้เกิดขึ้นใน 3 ปีได้ แล้ว จะเห็นประโยชน์ว่ามันจะลดโครงสร้างต้นทุนมหาศาล แต่ละวันมีเงินสดหมุนเวียนเป็นแสนล้าน ต้นทุนการจัดการมหาศาลเท่าไร ถ้าเราเป็นอย่างนี้ต่อไป อีก 10 ปี เราอาจจะต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ หลายประเทศเขาก็ปรับไปเยอะแล้ว” สมคิด กล่าว

ยกระดับไทยสู่ "สังคมไร้เงินสด"

ด้าน ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แผนงานด้านการพัฒนาการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ในประเทศใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งพร้อมเพย์ระหว่างบุคคล พร้อมเพย์นิติบุคคล การเรียกชำระเงิน (รีเควสทูเพย์) และการชำระบิล หลังจากนี้จะพัฒนาระบบชำระเงินไทยเชื่อมโยงกับภูมิภาค

ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ 46 ล้านหมายเลข เป็นการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน 30 ล้านหมายเลข และลงทะเบียนโดยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 16 ล้านหมายเลข

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้ลงทะเบียนจำนวนหลายสิบล้าน ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเมื่อใด แต่เชื่อว่าการผลักดันจากสถาบันการเงิน ที่ยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนดิจิทัลเป็น 0 บาท จนทำให้ยอดการทำธุรกรรมบนโมบายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว จะมีส่วนช่วยทำให้เกิดการลดใช้เงินสดมากขึ้น

สำหรับแผนงานของสมาคมธนาคารไทย ในการขยายระบบชำระเงินไปใช้ในภูมิภาค ขณะนี้มี 2 โมเดลที่ทำควบคู่กันไป ได้แก่ การเชื่อมโยงผ่านระบบสวิตชิ่งไทยโดยมีไอทีเอ็มเอ็กซ์เป็นเจ้าภาพ และการเชื่อมโยงผ่านธนาคารไทยและธนาคารพันธมิตร (สปอนเซอริ่ง แบงก์) ที่จะทำให้สามารถใช้พร้อมเพย์ชำระเงินในต่างประเทศได้ผ่านคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน

ส่วนพร้อมเพย์นิติบุคคลนั้น แม้ระบบจะพร้อมแล้วและธนาคารกระตุ้นเต็มที่ แต่ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอียังให้ความสนใจน้อย ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนบุคคล ไม่สามารถไปบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของธุรกิจเอง พบว่า ธุรกิจบางรายยังสะดวกที่จะใช้เช็คอยู่ โดยเช็คเป็นต้นทุนสูงของธนาคาร แต่คงไม่สามารถไปปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเช็คได้อีก หวังว่าบัญชีเดียวและความสะดวกปลอดภัยจากการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์จะทำให้ธุรกิจเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจลงทะเบียนพร้อมเพย์นิติบุคคลประมาณ 1 แสนหมายเลข

อย่างไรก็ดี จากทิศทางการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด จึงมีแนวทางปรับปรุงการให้บริการเครื่องเอทีเอ็มในระบบให้เป็นเอทีเอ็มสีขาว (ไวท์ ลาเบล) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย จะพยายามเสนอโมเดลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ทั้งเจ้าของเครื่องและผู้ใช้เครื่อง คาดว่าจะเริ่มเห็นได้ภายในปี 2562 นี้

ปรีดี กล่าวว่า ภาคธนาคารพร้อมส่งเสริมการลดใช้เงินสด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจ แต่เป็นประโยชน์กับทุกคน สร้างความสามารถแข่งขันระบบเศรษฐกิจจากต้นทุนต่ำลง จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องหาวิธีใหม่ๆ ในการส่งเสริม โดยเฉพาะการพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ๆ เข้าไปอยู่ในอีโคซิสเต็ม เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่พ่วงบริการการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้สะดวกและง่ายขึ้น แต่ยืนยันว่ายังไม่ใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมเงินสดแน่นอน