posttoday

กองทุน 5 ประเภทที่ควรหลีกเลี่ยง

18 ธันวาคม 2561

ช่วงนี้ก็เข้าใกล้เทศกาลวันหยุดของปีกันแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้หยุดพักจากความเครียดที่เราเผชิญมาในปีนี้ โดยเฉพาะกับตลาดการลงทุน

เรื่อง ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล

ช่วงนี้ก็เข้าใกล้เทศกาลวันหยุดของปีกันแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้หยุดพักจากความเครียดที่เราเผชิญมาในปีนี้ โดยเฉพาะกับตลาดการลงทุน ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับนักลงทุนทั่วโลกอย่างมาก ใครที่ลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โอกาสที่จะลงทุนในกองที่มีผลตอบแทนเป็นบวกในปีนี้ก็คงจะหายากกันอยู่ แต่อย่างที่ว่านะครับว่าการลงทุนต้องมองระยะยาว วันนี้เรามามองย้อนดูกันว่ากองทุนต่างๆ ที่เราถืออยู่ไปเข้าข่าย 5 ประเภทกองทุนที่มีความน่าจะเป็นที่จะมีผลตอบแทนแพ้คู่แข่งกันไหมนะครับ

กองทุน 5 ประเภทที่ควรหลีกเลี่ยง

1.กองทุนผู้(เพิ่ง)ชนะ

นักลงทุนส่วนมากจะบอกผมว่ามันขัดความรู้สึกมากๆ ที่ผมบอกว่าข้อมูลผลตอบแทนกองทุนทั้งในไทยและต่างประเทศมันบ่งชัดว่ามีโอกาสสูงที่กองทุนที่ได้ผลตอบแทนอันดับต้นๆ ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา จะแพ้ค่าเฉลี่ยของคู่แข่งในอีก 1-3 ปีข้างหน้า เหตุผลหลักที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากทุกกลยุทธ์การลงทุนมีวัฏจักรของมันในการสร้างผลตอบแทนที่ดี กลยุทธ์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีมากๆ ในช่วงเวลาหนึ่งย่อมไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ตลอดไป เพราะต้องขึ้นลงตามวัฏจักรตามธรรมชาติของทุกสิ่ง

2.กองทุนดัชนีแอบแฝง

มีงานวิจัยที่น่าสนใจมากของทีมวิจัยของ ก.ล.ต.ที่ได้ถูกนำเสนอเร็วๆ นี้ในงาน Thailand SEC Policy Dialogue 2018 งานวิจัยนี้วิเคราะห์หุ้นที่กองทุนหุ้นไทย (ที่ไม่ใช่กองทุนดัชนี) จำนวน 186 กองทุน ถือครอง ณ สิ้นปี 2560 พบว่า เกือบ 40% ของจำนวนกองทุนที่บริหารสินทรัพย์เกือบ 50% ของกองทุนที่วิเคราะห์ มีการถือครองหุ้นที่ใกล้เคียงกับดัชนี SET อย่างมาก โดยประเด็นที่ตามมาคือกองทุนเหล่านี้มีผลตอบแทน 3 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วต่ำกว่าคู่แข่งที่ทำการเลือกและถือครองหุ้นที่แตกต่างจากดัชนี สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยากเนื่องจากกองเหล่านี้ไม่มีโอกาสชนะดัชนีมากนัก เพราะถือครองหุ้นใกล้เคียงดัชนีมาก ส่วนวิธีที่จะสามารถบอกคร่าวๆ ได้ว่ากองทุนไหนที่อาจจะเป็นกองทุนดัชนีแอบแฝง นักลงทุนคนต้องหาผลตอบแทนรายเดือนประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาเทียบผลตอบแทนดัชนี กองทุนดัชนีแอบแฝงจะมีผลตอบแทนรายเดือนที่ใกล้เคียงดัชนีค่อนข้างมาก

3.กองทุนค่าใช้จ่ายแพง

อันนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ผลการวิจัยกองทุนทั่วโลก ได้แสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายกองทุน (Expense Ratio) มีผลต่อความสามารถในการเอาชนะคู่แข่งอย่างมาก จากประสบการณ์ที่ผมเจอมาพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจตัวเลข Expense Ratio เท่าที่ควรในการเลือกกองทุน แต่ที่น่าสนใจขึ้นอีกจากผลการวิจัยของ ก.ล.ต.ข้างต้น พบว่ากองทุนดัชนีแอบแฝงข้างต้นมีค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกองทุนสูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผลตอบแทนกองทุนดัชนีแอบแฝงไม่สามารถสู้คู่แข่งได้

4.กองทุนเปลี่ยนหัว

ความท้าทายที่สุดในการเลือกกองทุนที่ดีที่ผมเห็น คือ ความต่อเนื่องของทีมบริหารกองทุน เนื่องจากว่าข้อมูลรายชื่อผู้จัดการกองทุนในอดีตไม่ได้มีการเปิดเผย ก.ล.ต.เพิ่งกำหนดให้กองทุนเปิดเผยรายชื่อผู้จัดการกองทุนประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา อย่าลืมนะครับว่าการเลือกกองทุน คือ การเลือกฝีมือผู้จัดการกองทุน ถ้าผลตอบแทนในอดีตของกองทุนที่คุณชอบจริงๆ แล้วได้ถูกบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนที่ย้ายไปบริหารกองทุนอื่นแล้ว ผมว่าข้อมูลในอดีตที่คุณเห็นอาจไม่มีความหมายเลยในการวิเคราะห์เลือกกองทุน

5.กองทุนตัวเป้ง

กองทุนที่มีขนาดใหญ่มากๆ มักจะเป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนแพ้คู่แข่งอยู่เสมอ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยที่หุ้นมีสภาพคล่องสูงๆ มีจำนวนจำกัดดังนั้น กองทุนที่มีขนาดใหญ่มากไม่สามารถลงทุนในหุ้นที่หลากหลาย เช่น หุ้นขนาดกลางๆ ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโต นอกจากนี้แล้วการปรับพอร์ตตามสภาพตลาดก็จะทำได้จำกัด เพราะขนาดของการซื้อขายอาจใหญ่เกินไปที่สภาพคล่องในตลาดจะรับไหว จริงๆ แล้วข้อนี้ก็มีผลวิจัยต่างประเทศสนับสนุนอยู่มากมายครับ

สรุปแล้ว ผมก็ขอฝากวิธีเลือกกองทุนอย่างง่ายๆ มาฝากกันครับ ประมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ตให้ถือกองทุนดัชนีที่เน้นค่าใช้จ่ายกองทุนที่ต่ำ อันนี้สามารถเลือกลงทุนได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องทำการบ้านในการศึกษากองทุนเพิ่มเติม ที่เหลือลองหากองทุนเชิงรุกขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปและมีค่าใช้จ่ายกองทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง คัดเลือกกองที่มีผลตอบแทนระยะยาว 5-10 ปีดีต่อเนื่อง ผลงานระยะสั้นๆ 1-2 ปีที่ผ่านมาคงไม่ต้องซีเรียสกันมาก ที่สำคัญทีมผู้จัดการกองทุนต้องไม่มีการเปลี่ยนมืออย่างมีนัย หรือมีผลตอบแทนรายเดือนในปีที่ผ่านมาใกล้เคียงดัชนีมากจนเกินไป

จะสิ้นปีแล้วมาสำรวจความพร้อมพอร์ตกองทุนกันนะครับ