posttoday

ปี62 "เศรษฐกิจไทย" ไร้พระเอก

12 ธันวาคม 2561

เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในปี2562 ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก ล้วนมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโตทั้งสิ้น

เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในปี2562 ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก ล้วนมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโตทั้งสิ้น

***************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

เดือนสุดท้ายของปี เป็นฤดูกาล เปิดเผยคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ซึ่งหลายสำนักทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มีมุมมองคล้ายกันว่า ปี 2562 อัตราการขยายตัวผลิตภัณฑมวลรวมประเทศ (จีดีพี) เติบโตไม่ถึง 4%

เช่นเดียวกับ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่ประมาณการจีดีพีของปีหน้าว่าจะเติบโต 3.7% เป็นอัตราที่ชะลอลงจากปีนี้ที่คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 4% โดย อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้เหตุผลที่เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตชะลอลง เนื่องจาก “ขาดพระเอก” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เร่งตัว ไม่เหมือนปีนี้ที่มีการส่งออกเป็นพระเอกในช่วงครึ่งแรกของปีจนทำให้จีดีพีแตะ 4.8% ก่อนที่จะซบในช่วงไตรมาส 3

แต่สำหรับปี 2562 เหลียวซ้ายแลขวา เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก ล้วนแต่มีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโตทั้งสิ้น

สงครามการค้า vs การส่งออก

อมรเทพ ประมาณการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 จะขยายตัว 4.5% จากปีนี้คาดว่าเติบโต 8% โดยปีหน้าส่งออกยังเติบโตได้ตามการค้าโลก แต่อัตราชะลอลงเพราะ 2 สาเหตุใหญ่ ได้แก่ สงครามการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

สำหรับสงครามการค้าคงไม่จบง่ายๆ แม้ ทรัมป์ จะตกลงกับ สีจิ้นผิง เลื่อนการขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ไปอีก 90 วัน ไม่ได้แปลว่าสงครามการค้ายุติลง สหรัฐไม่ยอมปล่อยให้จีน เติบโตได้ตามธรรมชาติ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ภายในปี 2568 หรืออีกไม่เกิน 7 ปี เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ซึ่งสหรัฐยอมไม่ได้ โดยเฉพาะการเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่สหรัฐต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดความเป็นใหญ่ของจีน

ส่วนการท่องเที่ยวนั้น คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเติบโตได้ในช่วงต้นปีหน้า

กำลังซื้อ vs บริโภคภาคเอกชน

ด้านการบริโภคภาคเอกชน ปี 2562 คาดว่าเติบโต 4.1% ลดลงเล็กน้อย จากปีนี้ที่น่าจะเติบโต 4.4% ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้เป็นเซอร์ไพรส์ที่ขยายตัวสูงกว่าจีดีพี แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึกแล้ว ดูเหมือนจะไม่ยั่งยืน

เพราะการบริโภคที่ขยายตัวสูงมาจากยอดขายรถยนต์เติบโต 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว คาดว่ายอดการขายรถจะถึงจุดสูงสุดไตรมาสแรกปีหน้า ส่วนการบริโภคจากส่วนอื่นเข้ามาทดแทนยาก ที่ผ่านมายอดขายสินค้าชีวิตประจำวันโตน้อยหรือติดลบ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า สะท้อนกำลังซื้อที่กระจุกตัวในคนรายได้ระดับบน ขณะที่คนรายได้น้อยกำลังซื้ออ่อนแอ รายได้ภาคเกษตรทรงตัวอยู่

ปี62 "เศรษฐกิจไทย" ไร้พระเอก อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

การเมือง vs ลงทุนภาคเอกชน

ประมาณการลงทุนภาคเอกชน ปี 2562 เติบโต 4.5% จาก 3.5% ในปีนี้ และการลงทุนภาครัฐ ปี 2562 โต 6.9% จาก 5% ปีนี้ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หนึ่งในไม่กี่ตัวที่ดีขึ้น จากสัญญาณการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น ผ่านตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่การลงทุนภาครัฐมีความผันผวนมาก โดยเฉพาะการก่อสร้างภาครัฐที่ล่าช้า และหากโครงการสำคัญถูกเลื่อนออกไป
อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนปีหน้า

“ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ท้าทายเศรษฐกิจปีหน้า แม้จะมีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเม็ดเงินลงทุนเอฟดีไอที่มักจะเข้ามาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แต่คราวนี้ต่างชาติยังชะลอการลงทุนอยู่ เนื่องจากกฎกติกาเปลี่ยนไป โดยต่างชาติจะตัดสินใจอีกครั้งเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว” อมรเทพ ระบุ

เหลื่อมล้ำ vs บริโภคภาครัฐ

อมรเทพ ประมาณการใช้จ่ายและบริโภคภาครัฐ ปี 2562 เติบโต 3.9% จาก 2% ในปีนี้ และเริ่มเห็นมีนโยบายเพิ่มสวัสดิการให้คนสูงอายุและคนจนบ้างแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าการแจกเงินเป็นเพียงการช่วยประคองคนกลุ่มระดับล่างไม่ให้มีปัญหาหนักไปกว่านี้ แม้ตัวเลขการบริโภคเติบโต แต่คนระดับล่างยังไม่ดีมาก รายได้ภาคเกษตรหดตัว ราคาสินค้าเกษตรโดยมากยังลดลง

“มาตรการนี้คงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากไม่เพิ่มความสามารถของคนเหล่านี้ในการหารายได้เองในระยะยาว เช่น การฝึกอาชีพ การหาตลาดใหม่ หรือตัดพ่อค้าคนกลางออกไป” อมรเทพ กล่าว

ค่าเงินบาทและดอกเบี้ย

ด้านค่าเงินบาทปีหน้า คาดว่าจะแข็งค่าเล็กน้อย จากการไหลกลับของเงินลงทุนเข้ามายังตลาดเกิดใหม่ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ โดยประมาณการค่าเงินบาทปลายปี 2562 ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากปลายปีนี้คาดไว้ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์

ด้านอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งใน 12 เดือนข้างหน้า ครั้งแรกเดือน มี.ค. และอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 2% เพื่อเบรกความเสี่ยงจากการคงดอกเบี้ยต่ำนานและสะสม Policy Space เชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ไม่กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย