posttoday

คลังเร่งตั้งแบงก์ชุมชน

11 ธันวาคม 2561

รัฐบาลกำลังเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนในระดับฐานราก นำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน

เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
         
รัฐบาลกำลังเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนในระดับฐานราก นำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)  สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขหลักการจากร่างเดิม จึงต้องเปิดรับความเห็นอีกครั้ง  สำหรับหลักการและเหตุผลของกฎหมาย ต้องการให้เข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนอย่างทั่งถึง สร้างโอกาสที่เท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำการเงินแก่ประชาชนและโดยรวมของประเทศ ซึ่งองค์กรการเงินชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังขาดความยั่งยืนในการดำเนินการ เนื่องจากเน้นการพึ่งพาตัวบุคคลเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปเมื่อต้องเปลี่ยนบุคคลผู้เป็นผู้นำ ขาดความมั่นคง

ดังนั้น กฎหมายจึงบังคับให้องค์กรการเงินชุมชนให้มีสภาพเป็นนิติบุคคล ทำให้ภาครัฐมีทิศทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนระดับนโยบาย สามารถบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานให้เกิดความสอดคล้อง ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น ต่อระบบการเงินในชุมชน

ทั้งนี้ การจัดตั้งและจดทะเบียน จะให้สถาบันการเงินประชาชนมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมทรัพย์แก่สมาชิก และให้บริการทางการเงิน พัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิตและสวัสดิการ และในการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชนที่จะยื่นคำขอจดทะเบียน ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกขององค์กรการเงินชุมชนด้วยมติไม่น้อยกว่ำ 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ขององค์กรการเงินชุมชนนั้น

นอกจากนี้ ต้องมีคุณสมบัติได้แก่ มีการจัดทำงบการเงินประจำปีต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน ไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องมีทุนที่ชำระแล้วเป็นเงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท  และมีผลการดำเนินงานเป็นกำไรต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และในวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนต้องไม่มี ผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม

ขณะเดียวกันให้ที่ประชุมสมาชิกองค์กรการเงินชุมชนตั้งผู้แทนจากชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน เพื่อยื่นคำขอ จดทะเบียน โดยสถาบันการเงินประชาชนที่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลทำกิจการได้ ทั้งรับฝากเงิน ให้สินเชื่อ เป็นตัวแทนการรับชำระเงินและโอนเงิน เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ หรือผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่นๆ

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจาก พ.ร.บ.นี้ จะช่วยพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก ส่งเสริมให้องค์กรการเงินชุมชนมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมศักยภาพ และการกำกับดูแลที่เหมาะสม สามารถให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนได้อย่างมั่นคงและมีคุณภาพ

ทั้งนี้ สถาบันการเงินประชาชนจะทำให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนสามารถใช้บริการทางการเงินขั้นพื้นฐานจากสถาบันการเงินในระบบได้สะดวกมากขึ้นทั้งในด้านการออม ด้านสินเชื่อ ด้านการโอนเงินและชำระเงิน ทำให้ลดการพึ่งพาการเงินนอกระบบ รวมถึงได้รับการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม อีกทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพได้สะดวกมากขึ้น จะส่งเสริมการสร้างรายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
         
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.กฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในปีหน้า คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้

ก่อนหน้านี้ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎมหายนี้จะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า เป้าหมายหนึ่งคือการแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งผลจากการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการพบว่า ผู้ที่มาลงทะเบียนแจ้งว่ามีปัญหาหนี้นอกระบบ 1.3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้นอกระบบรวมกันกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่อไปชาวบ้านจะสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินชุมชนได้เลย ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการเพราะเขาจะรู้จักนิสัยใจคอของคนในพื้นที่ตัวเองได้ดีกว่า ต่างจากพิโก นาโนไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงินที่กำหนดวงเงินกู้ต่อราย

ทั้งนี้ ย้ำว่าการยกระดับเป็นสถาบันการเงินประชาชน จะเป็นมาตรการสมัครใจ แต่ข้อดีของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะมีธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.เป็นพี่เลี้ยง มีระบบซอฟต์แวร์มาให้ใช้ สามารถลงรายการฝาก ถอน ปล่อยกู้แบบที่ตรวจสอบได้ทุกสิ้นวัน จะทำให้สถาบันการเงินชุมชน ได้รับการยอมรับเพราะน่าเชื่อถือ ขณะที่การทำบัญชีของกองทุนหมู่บ้าน หลายแห่งสมาชิกเจอปัญหาไม่สามารถเข้าตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านจากคณะกรรมการได้นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องทุจริตตามมาได้ เชื่อว่าสถานะของกองทุนหมู่บ้านต่อไปอาจจะเหมือนบอนไซ คือ ไม่โต

ดังนั้น สถาบันการเงินชุมชน หรือกองทุนบ้าน ควรต้องยกระดับเป็นนิติบุคคล เพราะจะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งต่อไปธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ก็สามารถปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินประชาชน เพื่อเอาไปปล่อยกู้ต่อให้สมาชิกได้