posttoday

แบงก์ห่วงคนไทยหนี้ท่วม สินเชื่อส่วนบุคคลโตสูง

10 ธันวาคม 2561

แบงก์ห่วงความเสี่ยงหนี้ครัวเรือน สินเชื่อโตแต่กู้ส่วนบุคคล มั่นใจ ธปท.อาจออกมาตรการคุมสินเชื่อรายย่อยอีกระลอก

แบงก์ห่วงความเสี่ยงหนี้ครัวเรือน สินเชื่อโตแต่กู้ส่วนบุคคล มั่นใจ ธปท.อาจออกมาตรการคุมสินเชื่อรายย่อยอีกระลอก

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะออกมาตรการดูแลระบบการเงิน (แมคโครพรูเด็นเชียล) เพิ่มเติมมาควบคุมการก่อหนี้ส่วนบุคคล เน้นไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว หลังจากภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง ซึ่งมุมมองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องจากการคงดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ ส่วนที่ยังสามารถใช้มาตรการแมคโครพรูเด็นเชียลเข้าไปดูแลเพิ่มเติมได้ คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่อาจจำกัดวงเงินทุกใบต่อบุคคล จากมาตรการก่อนหน้านี้ ให้จำกัดวงเงิน 1.5-5 เท่าต่อใบ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3 หมื่นบาท และให้ถือบัตรได้ไม่เกิน 3 ใบ ส่วนผู้มีรายได้ 3 หมื่นบาทขึ้นไป ให้วงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนบัตรเครดิต ซึ่งในแต่ละคนอาจถือบัตรหลายใบ ทำให้มีวงเงินที่ก่อหนี้เกินตัวได้หลายสิบเท่า

นายยรรยง กล่าวว่า ภาระหนี้ครัวเรือนสูง ประกอบกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2562 ไม่กระจายตัวมากนัก การบริโภคกระจุกอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง เป็นประเด็นต้องอาศัยความรอบคอบในการบริหารจัดการ อาจต้องใช้เวลาการปรับตัวของครัวเรือน รวมถึงแนวทางการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่มีการกู้ยืมในสัดส่วนสูง อาจมีความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่จะเปลี่ยนไปตามแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในไตรมาส 3 สินเชื่ออุปโภคและบริโภคที่คิดเป็น 33.7% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 8.4% เป็นการเพิ่มของสินเชื่อรถยนต์ 12.5% สินเชื่อบุคคล 8.8% สินเชื่อบัตรเครดิต 8.2% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 6.4% ในขณะที่สินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ขยายตัวเพียง 0.6% สะท้อนให้เห็นว่าสินเชื่อโตกระจุกไม่ได้เกิดจากการบริโภคขยายตัวโดยทั่วไป และขยายตัวจากการก่อหนี้