posttoday

วิรไท สันติประภพ "เป็นหน้าที่ ธปท.ที่ต้องเตือน"

03 ธันวาคม 2561

มุมมองของ "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกับทิศทางดอกเบี้ยและความเปราะบางที่ต้องจับตา

มุมมองของ "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกับทิศทางดอกเบี้ยและความเปราะบางที่ต้องจับตา

***********************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าไทยยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องเตือนว่า “อย่าชะล่าใจ” เพราะทิศทางดอกเบี้ยของโลกกำลังปรับขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) กลุ่มที่ใช้หนี้ระยะสั้นไปลงทุนระยะยาวที่ไม่สอดคล้องกัน โดยมีความเสี่ยงผลกระทบจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตร (Yield Snapback) ต่อต้นทุนการกู้ยืมโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่กู้ยืมระยะสั้น หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิด ผลที่เกิดขึ้นจะขยายวงกว้างเหมือนใส่แว่นขยายหากไม่เตรียมพร้อมหรือจัดโครงสร้างทางการเงินที่ดี

อีกด้านหนึ่งที่ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เหลือน้อย ต้องคิดถึงการสร้างกันชน (Buffer) เพื่อรองรับความผันผวนและความเสี่ยงสูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากมีโอกาสก็ต้องชั่งน้ำหนักถึงความสามารถในการเพิ่มความสามารถดำเนินนโยบายการเงินด้วย เช่นเดียวกับนโยบายการคลังก็ต้องมีกันชนเก็บไว้ เพื่อนำออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเมื่อจำเป็น

“ในภาวะข้างหน้าที่มีความผันผวนสูง ทางการมีเครื่องมือใดบ้างที่เข้าไปดูแลและให้เกิดผล หลักนโยบายการเงินทั่วไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเข้าไปดูแล ต้องลดและลดแรงจึงจะเกิดผลเข้าไปช่วยดูแลอย่างที่เกิดวิกฤตในรอบก่อนๆ ขณะนี้ความสามารถดำเนินนโยบายการเงินเหลือน้อยมาก จึงต้องมองถึงการปรับเพิ่มความสามารถเพื่อให้มีกันชนในยามจำเป็นในอนาคต”

ความเปราะบางที่ต้องจับตา

วิรไท กล่าวว่า ยอมรับว่าความเสี่ยงภาพใหญ่ที่น่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นตัวถ่วงของระบบเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีกลไกดูแลหนี้ครัวเรือนก็จะเป็นความเปราะบาง ที่พิจารณาอยู่ อาทิ ภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio) ยังไม่มีข้อมูลที่ดีพอ ขณะนี้ได้เริ่มทำงานกับภาคธนาคารว่าควรต้องคำนึงถึงภาระหนี้ต่อรายได้ เพราะการออกเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อหลักประกัน (LTV) เป็นเพียงทางอ้อม ที่สำคัญจะต้องดูความสามารถในการจ่ายหนี้ หากเศรษฐกิจเริ่มชะลอ รายได้ถูกกระทบ จะมีผลกระทบอย่างไร

ความเสี่ยงอีกด้าน คือ ธนาคารเงา (Shadow Bank) ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นธนาคารเงาใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการฝากเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ถึง 10% ของเงินฝากทั้งระบบ ซึ่งใหญ่มาก ทั้งที่ระบบฐานข้อมูลความเชื่อมโยง ยังไม่มีใครที่สามารถให้ภาพที่ชัดเจนได้ อีกทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์มีสัดส่วนเงินฝากมากกว่าเงินกู้ แต่ก็ยังกู้ไปลงทุนที่มีความเสี่ยง เช่น อิควิตี้ลิงค์ ทั้งที่ยังไม่มีความรู้

นอกจากนี้ จับตากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่กู้เงินเยอะมากในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ยิ่งการกู้ผ่านการออกตราสารหนี้ดอกเบี้ยยิ่งต่ำมาก ปัญหาถัดมาก็พบว่า ธุรกิจรายใหญ่ไปต่อรองกับธนาคารว่า กู้ผ่านตราสารหนี้ดอกเบี้ยต่ำมาก ทำให้ธนาคารแข่งขันปล่อยกู้โดยลดดอกเบี้ยให้ต่ำเป็นพิเศษ เป็นการปล่อยกู้ที่ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ฉะนั้น พฤติกรรมการอนุมัติสินเชื่อต้องประเมินความเสี่ยงที่ดี ไม่ใช่มุ่งเน้นเพียงหวังตัวเลขสินเชื่อเติบโต แม้ขณะนี้ธนาคารมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

นโยบายการเงินยังผ่อนคลาย

วิรไท กล่าวว่า รายงาน กนง.ล่าสุดมี 3-4 ประเด็นที่คนให้น้ำหนักว่าจะขึ้นดอกเบี้ยและหมดยุคดอกเบี้ยถูก ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเมื่อขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะขึ้นต่อเนื่อง แต่การพิจารณาใช้หลักประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งไทยไม่ได้มาจากประเทศที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยสุดขั้ว จนต้องรีบปรับสู่ภาวะปกติ และเราไม่ได้เป็นประเทศที่มีการจ้างงานอย่างเต็มที่ อย่างสหรัฐที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดรอบ 30 ปี ค่าจ้างเพิ่มขึ้นและมีนโยบายการคลังอัดฉีดอีก ทำให้เศรษฐกิจร้อนแรง จึงเป็นสภาวะที่สหรัฐจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในทิศทางดังกล่าว

“เราไม่ได้มาจากประเทศที่ดอกเบี้ยติดลบหรือเป็นศูนย์ และเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปยังเปราะบาง ฉะนั้นเราจึงมีหลัก Data Dependent ถ้าสมมติว่ามีการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้หมายความว่าหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ ดอกเบี้ยอย่างไรก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังที่รายงาน กนง.ที่เขียนชัดว่า คณะกรรมการโดยรวมเห็นว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทย”

ดอกเบี้ยต่ำพิเศษจำเป็นน้อยลง

นโยบายการเงินอยู่ในระดับการผ่อนคลายมากเป็นพิเศษที่ผ่านมา “จำเป็นน้อยลง” หากดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ต่ำสุดอยู่ในระดับ 1.25% เมื่อปี 2552 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะนั้นจีดีพีของไทยติดลบ 0.9% เทียบกับปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับ 1.5% ขณะที่ปีนี้แม้จีดีพีไทยอาจจะไม่ได้ 4.4% แต่ก็ยังอยู่ระดับ 4% ต้นๆ และปี 2562 คาดว่าจีดีพีจะอยู่ระดับ 4% บวกลบ ซึ่งหลายเครื่องยนต์กำลังทำงาน จึงมีคณะกรรมการ 3 เสียงเป็นห่วงว่า นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจะเกิดผลข้างเคียงกับเสถียรภาพระบบการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งระยะยาวประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้ดูแลผู้กู้อย่างเดียวต้องดูแลผู้ฝากด้วยให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปี 2562 ที่ กนง.ให้ประมาณการเติบโตที่ระดับ 4.2% ต้องมีการประเมินผลกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการช็อกที่ไม่ได้คาดไว้ ส่วนการส่งออกได้ประเมินถึงผลกระทบไว้ส่วนหนึ่งแล้ว โดยปี 2561 นับเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจเติบโตได้ระดับ 4% หากปี 2562 เศรษฐกิจเติบโตได้ถึงระดับ 4% จะเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เศรษฐกิจเติบโต 4% ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี เข้มแข็งกว่าเมื่อครั้งที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับ 1.25% มาก

อย่างไรก็ดี การที่ยอมให้ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐได้ เพราะสร้างกันชนไว้ได้ดี ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศน้อย ต่างชาติถือพันธบัตรไทยสัดส่วน 10% จึงสามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อตอบโจทย์ในประเทศ แต่ชะล่าใจไม่ได้เพราะเงินทุนไหลเข้าออกขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ภายนอกประเทศ ที่มักเปลี่ยนนโยบายการเปิดหรือปิดรับความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุการณ์ในประเทศใหญ่ หากดอกเบี้ยห่างกันมากก็อาจมีการไหลออกแรงได้ ทว่า ในมุมมองต่างชาติเห็นว่าไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพจึงกล้านำเงินเข้ามาลงทุนแม้ดอกเบี้ยจะน้อยก็ตาม