posttoday

สนช.เคาะภาษีที่ดิน15พ.ย.นี้ หากผ่านการพิจารณาจะเริ่มเก็บปี63

11 พฤศจิกายน 2561

ร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินได้ฤกษ์เข้า สนช.วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ หากที่ประชุมเห็นชอบ เริ่มเก็บภาษีปี 2563

ร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินได้ฤกษ์เข้า สนช.วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ หากที่ประชุมเห็นชอบ เริ่มเก็บภาษีปี 2563

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 15 พ.ย. มีวาระการพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือกำหนดให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563

ทั้งนี้ ในส่วนฐานภาษี อัตราภาษี คณะ กมธ.ได้ปรับแก้จากร่างเดิมที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาในวาระแรกคือ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี จากเดิม 0.2% ของฐานภาษี ส่วนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี จากเดิม 0.5% ของฐานภาษี

สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์นอกจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี จากเดิม 2% ของฐานภาษี ส่วนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี จากเดิมไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า อัตราการจัดเก็บภาษียังแบ่งเป็น 4 ประเภท โดยที่ดินประเภทเกษตรกรรม สำหรับบุคคลธรรมดา จะเก็บภาษีสำหรับที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 1 ล้านบาท เสียภาษี 100 บาท เช่น ที่ดินประเภทเกษตรกรรมที่มีมูลค่า 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 1,000 บาท/ปี เป็นต้น โดยในส่วนนี้กฎหมายจะมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในช่วง 3 ปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อย

สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเริ่มเก็บที่อัตรา 0.3% ของราคาประเมิน และหากไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ต่อเนื่องไม่เกิน 27 ปี ในอัตราไม่เกิน 3% จนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อต้องการให้มีการกระตุ้นให้ใช้ที่ดินว่างเปล่าให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ด้าน นายสุรเชษฐ กองชีพ นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 นั้น เป็นเรื่องดีเหมือนมาตรการแบงก์ชาติที่ออกมามีความยืดหยุ่นและลดแรงต้านได้ แต่ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ก็ต้องมาดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถบังคับใช้ได้ตามกรอบเวลาและหลักเกณฑ์เดิมหรือไม่

ขณะเดียวกันเจ้าของที่ดินมีการปรับตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ในแง่ของแลนด์ลอร์ดรวมทั้งนักพัฒนาอสังหาฯ ซึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ดินจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการขายหรือพัฒนาโครงการก็จะไปบวกเพิ่มในราคาขายอยู่แล้ว ดังนั้นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะตกไปอยู่ที่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคที่ซื้อบ้านหรือคอนโด และในขณะเดียวกันเห็นว่าภาษีใหม่จะเป็นการเร่งผลักดันให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน อีกทั้งเป็นการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ตามมูลค่าและความเหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็น โดยจะได้เห็นเจ้าของที่ดินที่ได้รับมรดกนำออกมาขายมากขึ้น เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระภาษีใหม่

สนช.เคาะภาษีที่ดิน15พ.ย.นี้ หากผ่านการพิจารณาจะเริ่มเก็บปี63