posttoday

ธปท.แจงเกณฑ์คุมแบงก์รัฐ

19 ตุลาคม 2561

ธปท.แจงสาระสำคัญ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินใหม่ เปิดทางกำกับแบงก์รัฐ คาดกฎหมายใหม่มี ผลบังคับใช้เร็วๆ นี้

ธปท.แจงสาระสำคัญ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินใหม่ เปิดทางกำกับแบงก์รัฐ คาดกฎหมายใหม่มี ผลบังคับใช้เร็วๆ นี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่...) พ.ศ....แล้ว โดยร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นจาก 90 วัน นับจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ภายหลังจากการแก้ไขกฎหมายนี้ อำนาจและกระบวนการในการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ยังคงเป็นของ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายจัดตั้งและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในส่วนของ ธปท.จะกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง และผู้บริหารระดับสูง 3 ระดับบน (ผู้จัดการ รองผู้จัดการ และผู้ช่วยผู้จัดการ) และกำหนดให้ SFIs ต้องขอความเห็นชอบการแต่งตั้ง โดยในชั้นแรกจะเป็นการแต่งตั้งตัวผู้บริหารระดับสูงก่อน สำหรับการขอความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งนั้น จะต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งกรรมการที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง

สำหรับการดำเนินธุรกรรมนโยบายรัฐ (ธุรกรรม PSA) ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ SFIs บันทึกบัญชีธุรกรรม PSA แยกจากบัญชีการดำเนินธุรกรรมตามปกติ เพื่อความโปร่งใสในการกำกับดูแล สำหรับการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรองสำหรับธุรกรรม PSA กำหนดให้แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีธุรกรรมนโยบายรัฐ ส่วนที่มีการชดเชยความเสียหายตามมติ ครม. SFIs สามารถจัดชั้นลูกหนี้เป็นปกติ โดยไม่ต้องกันเงินสำรอง

ทั้งนี้ กรณีธุรกรรมนโยบายรัฐ ส่วนที่ไม่มีการชดเชยความเสียหายตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) SFIs ยังคงต้องมีการจัดชั้นและกันเงินสำรองตามคุณภาพของตัวธุรกรรมตามปกติ

สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8 แห่ง มีพันธกิจในการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้พ้นจากแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้วเมื่อวันที่ 19 ม.ค.  2561