posttoday

กสิกรปรับแผนสินเชื่อบ้าน

11 ตุลาคม 2561

กสิกรไทยบุกสินเชื่อบ้าน 3-5 ล้าน รับมือเกณฑ์ใหม่ เผยโฉมโมบายเค พลัสใหม่ ใช้เอไอรู้ใจลูกค้า

กสิกรไทยบุกสินเชื่อบ้าน 3-5 ล้าน รับมือเกณฑ์ใหม่ เผยโฉมโมบายเค พลัสใหม่ ใช้เอไอรู้ใจลูกค้า

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่กระทบกับการปล่อยสินเชื่อบ้าน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหลังแรก การกู้บ้านหลังที่ 2 มีไม่มากนัก ส่วนบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียง 10-20% ของพอร์ต ขณะที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอี โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาธนาคารไม่เคยลดหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ เห็นได้จากสินเชื่อบ้านเติบโตน้อย แต่ทั้งปียังคงเป้าหมาย 5%

สำหรับกลยุทธ์สินเชื่อบ้านปีหน้าเน้นบ้านราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มล่างที่ธนาคารไม่ได้เข้าไปทำตลาด แผนการรุกจะเน้นบริการดี อนุมัติเร็ว รวมทั้งพัฒนาดิจิทัลเลนดิ้งเข้ามาเสริม ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลช่วยรีไฟแนนซ์บ้านลูกค้าเก่าเสนอดอกเบี้ยต่ำลงโดยที่ลูกค้าไม่ต้องขอ แต่ยังคงการคัดกรองคุณภาพหนี้ที่ดี

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจปี 2562 เป้าหมายสินเชื่อรวมจะเติบโตประมาณ 6.5-7% แบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่ 6-7% สินเชื่อเอสเอ็มอี 3-4% และสินเชื่อรายย่อย 6-7% ซึ่งสินเชื่อรายย่อยจะเป็นตัวชูโรง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (เคบีทีจี) กล่าวว่า เปิดตัวเค พลัสใหม่ใน คอนเซ็ปต์ "เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น" เพิ่ม ฟังก์ชั่นไลฟ์สไตล์ เสริมจุดแข็งนวัตกรรม "เกด" (KADE) ที่มีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นระบบหลังบ้าน เชื่อว่า ช่วยเพิ่มลูกค้าใหม่ปีละ 2 ล้านบัญชี และมีฐานลูกค้า 20 ล้านรายภายใน 3 ปี พร้อมด้วยโครงสร้าง "โอเพ่น แพลตฟอร์ม" เชื่อมแพลตฟอร์มของพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ คาดหวังผู้ใช้ทั่วโลก 100 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ให้ความสำคัญเสถียรภาพโดยได้รับอนุมัติงบ 1,300 ล้านบาท เพื่อขยายความสามารถรองรับธุรกรรมของเคพลัส โดยสิ้นเดือน ต.ค. จะรองรับปริมาณธุรกรรมได้ถึง 1 หมื่นรายการ/วินาที จากปัจจุบันที่รองรับได้ 6,000 รายการ/วินาที และจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นรายการ/วินาที ในสิ้นปี 2562

"เพื่อพัฒนาเกดให้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จะเพิ่มทีมเอไอ จาก 60 คนเป็น 200 คน ขณะนี้เรากำลังทดสอบฟังก์ชั่นใหม่ 3 ตัว คือ โรโบแอดไวเซอร์ ชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้า และสั่งการทำธุรกรรมด้วยเสียง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2562" นายสมคิด กล่าว