posttoday

เงินสะพัดเทศกาลกินเจ 4.6 พันล้าน

22 กันยายน 2561

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด เทศกาลกินเจ เงินสะพัด กว่า 4,650 ล้านบาท

โดย...ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลกินเจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2561 พบว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ ปีนี้ (9-17 ต.ค. 2561) คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังสนใจกินเจ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ตั้งใจจะกินเจคือ กลุ่มวัยทำงาน (ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกินเจเพื่อลดละกิเลส/งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ในขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ กินเจเพื่อสุขภาพ/อิงกระแสอาหารออร์แกนิก ในขณะที่บางกลุ่มก็เป็นผู้รับประทานอาหารเจ/มังสวิรัติเป็นประจำอยู่แล้ว

โดยในปีนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เทศกาลกินเจปี 2561 ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 4,650 ล้านบาท ขยาย 3.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเจที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น รวมถึงจำนวนคนที่สนใจกินเจขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51 ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 ในปีนี้ โดยจำนวนคนที่กินเจเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเลือกกินเจเป็นบางวันเฉลี่ยอยู่ที่ 4 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการกินเจปีนี้ประมาณ 315 บาท/คน/วัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/คน/วัน)

พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจ ของคนกรุงเทพฯ ปี 2561 ที่น่าสนใจมีดังนี้

- รสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารและเครื่องดื่มเจ ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคค่อนข้างสูง สะท้อนจากกลุ่มตัวอย่างที่เลือกกินเจในปีนี้กว่า 66% ตัดสินใจเลือกซื้อจากรสชาติมากที่สุด รองลงมาคือ การมองถึงคุณค่าทางโภชนาการ (63%) และราคาที่สมเหตุสมผล (60%) ตามลำดับ ในขณะที่คนไม่เลือกกินเจ เหตุผลหลักก็ยังมาจากเรื่องของรสชาติเช่นกัน โดยกว่า 64% ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่กินเจ มองว่า รสชาติของอาหารเจดูไม่อร่อย มันเลี่ยน รองลงมาคือ หลายๆ เมนูเจที่วางขายทั่วไปมีแคลอรีสูง/ทำให้อ้วน (46%) และไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลกินเจ (44%) ปัจจัยเหล่านี้บ่งชี้ให้ภาพลักษณ์ของอาหารเจถูกมองเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและส่งผลให้ผู้บริโภคลังเลที่จะเลือกกินเจ

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับภาพลักษณ์อาหารเจให้ดูไม่จำเจน่ารับประทานและมองเป็นอาหารเชิงสุขภาพ รวมถึงมีกรรมวิธีในการปรุงที่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก โดยเฉพาะคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนและดีต่อสุขภาพก็น่าจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีทัศนคติและมุมมองต่ออาหารเจในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเจในปีนี้และปีต่อๆ  ไป

- ด้านช่องทางการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจของกลุ่มตัวอย่างไม่แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา คือ ส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อจากร้านอาหารมารับประทาน (70%) รองลงมาคือ กินเจที่ร้านอาหาร (50%) และซื้อจากร้านสะดวกซื้อหรือ ซูเปอร์มาร์เก็ต (43%) เป็นหลักในขณะที่ช่องทาง Food Online/Delivery แม้จะมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับช่องทางหลัก แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมายที่มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างเร่งรีบ ชอบทานอะไรง่ายๆ ที่สะดวกรวดเร็ว แต่ต้องมีความอร่อยภายใต้ราคาที่สมเหตุสมผล สอดรับกับงบประมาณที่วางไว้

- การชูจุดขายในเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วน ... โอกาสใน การกระตุ้นยอดขายที่เพิ่มขึ้น ผลสำรวจกว่า 59% ของกลุ่มตัวอย่าง ที่ระบุว่าสนใจจะหันมารับประทานอาหารเจบ่อยขึ้นในระยะต่อไป

ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มของคนที่กินเจจะยังมีสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่ระยะหลังมานี้ผู้บริโภคหลายคนที่ทานเจ รวมถึงที่ไม่สนใจทานเจต่างก็เริ่มมีความกังวลในเรื่องของการบริโภคอาหารเจว่า อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนที่อาจได้รับไม่เพียงพอ อาหารเจมีความมัน/เลี่ยน ซึ่งเกรงว่าจะไม่ดีต่อสุขภาพ

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะการชูจุดขายในเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึง การใส่ใจในเรื่องของรสชาติและการสร้างความแปลกใหม่ให้กับเมนูอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ ก็น่าจะช่วยคลายกังวลในเรื่องของการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจที่จะรับประทานอาหารเจเพิ่มขึ้น

โดยกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะเข้าไปทำตลาดมากที่สุดคือ กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 35-55 ปี) และกลุ่มวัยเกษียณ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) เพราะมีกำลังซื้อสูงยอมจ่ายให้กับกลุ่มสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีการรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการบอกกล่าวจากคนใกล้ตัวและการเข้าไปหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะใช้ช่องทางนี้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการได้