posttoday

ไตรมาส 2 สินเชื่อโตกระจาย

15 สิงหาคม 2561

ธปท.เผยสินเชื่อธนาคารเติบโตแบบกระจายตัว สินเชื่อบุคคลและเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ หดตัว ด้านหนี้เสียทรงตัว

ธปท.เผยสินเชื่อธนาคารเติบโตแบบกระจายตัว สินเชื่อบุคคลและเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ หดตัว ด้านหนี้เสียทรงตัว

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/2561 สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.4% จากที่ขยายตัว 4.7% ในไตรมาสแรก และมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยสินเชื่อธุรกิจมีน้ำหนัก 66.7% ของสินเชื่อรวมขยายตัวได้ 4.1% มาจากการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี (ที่ไม่รวมธุรกิจการเงิน) เติบโต 7.5% จากธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจอาคารชุดที่พักอาศัยและธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป

ทั้งนี้ สินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีวงเงินขนาดเล็กปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่คิดเป็นน้ำหนัก 33.3% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8% เมื่อเทียบระยะเดียวกันของปีก่อน จากสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาส 5 มาอยู่ที่ 12.4% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เติบโตต่อเนื่องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี

สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวอยู่ที่ 1.8% เนื่องจากมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น บางส่วนมีการชำระคืนหนี้ อย่างไรก็ดีธุรกิจขนาดใหญ่บางประเภทมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจที่พักแรม และการผลิตเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

"สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่ม 6.2% สินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 6.5% และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ภาพรวมการระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.1% มาอยู่ที่ 5.6% ธปท.ยังคงคาดการณ์ว่าสินเชื่อทั้งปีจะขยายตัวราว 4-6%" น.ส.ดารณี กล่าว

ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.93% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.92% โดยมียอดคงค้างเอ็นพีแอล ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.65 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 441 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนี้สูญเป็นสำคัญ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.36% จาก 2.32% ในไตรมาสก่อน โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 356 พันล้านบาท

"ธปท.ประเมินว่า เอ็นพีแอลจะทรงตัวในระดับนี้จนถึงสิ้นปีนี้ และเริ่มลดลง ในต้นปีหน้า แต่ทั้งนี้เอ็นพีแอลในบางกลุ่มก็เกิดขึ้นเฉพาะตัวไม่เกี่ยวกับวัฏจักรเศรษฐกิจและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ค้าปลีกรายย่อยที่แข่งขันกับโมเดิร์นเทรดไม่ได้ เป็นต้น" น.ส.ดารณี กล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีเงินสำรอง 637 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 14.6 พันล้านบาท และสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 182.1% อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.21% จาก 1.07% ในไตรมาสก่อน และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) เพิ่มขึ้นจาก 2.66% มาอยู่ที่ 2.71% มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,477 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนซึ่งเป็นผลจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน ส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ที่ 17.9% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 17.9% และ 15.3%