posttoday

กม.รีดภาษีที่ดินส่อเลื่อนอีก คลังไม่ยืนยันบังคับใช้ปี'62

04 สิงหาคม 2561

คลังโยน กทม.-ท้องถิ่น ทวงภาษีที่ดินล่าช้า ไม่ยืนยันใช้ทันปี 2562

คลังโยน กทม.-ท้องถิ่น ทวงภาษีที่ดินล่าช้า ไม่ยืนยันใช้ทันปี 2562

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญัญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการได้ขยายเวลาการพิจารณาไปถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2561 หลังจากนั้นคาดว่าจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวาระ 2 และ 3 ได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีความล่าช้า เนื่องจากมีบางหน่วยงานยังไม่พร้อม เช่น กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากกฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ทำให้ไม่สามารถเข้าไปสำรวจพื้นที่จะเก็บภาษีได้ว่าควรเก็บภาษีอย่างไร ประเภทไหน

"คณะกรรมาธิการได้มีการประชุมกันต่อเนื่อง และจะถามความพร้อม ของกรุงเทพมหานครและ อปท. ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าจะให้แก้ไขอย่างไร ส่วนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ได้หรือไม่ยังบอกไม่ได้ ต้องถามความพร้อมของหน่วยงานที่ไม่พร้อมให้แน่ใจเสียก่อน เพราะการเก็บภาษีที่ดินเป็นท้องถิ่นเก็บและเป็นรายได้ของท้องถิ่น ไม่ใช่ของกระทรวงการคลังหรือรัฐบาล หากหน่วยงานที่เก็บไม่มีความพร้อมก็จะทำให้การเก็บภาษีมีปัญหาได้ เมื่อกฎหมายออกมามีผลบังคับใช้" นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของ รายละเอียดกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีการสรุปรายละเอียดได้หมดแล้ว ทั้งประเภทและอัตราในการจัดเก็บภาษี รวมถึงที่ดินที่ได้รับการยกเว้น การลดหย่อน และการบรรเทาการเก็บภาษี ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็ จะมีการประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ รับทราบเป็นการทั่วไปอีกครั้ง

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างใหม่จะทำให้ อปท. เก็บรายได้ปีละ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็น 11-12% ของรายได้ท้องถิ่น ทั้งหมด โดยรายได้ส่วนใหญ่รัฐบาลยังสนับสนุนให้ อปท. อย่างไรก็ตามภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นการสร้างฐาน การเก็บภาษีจากทรัพย์สินของประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การเก็บภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์จะมีสัดส่วนภาษีถึง 90% ส่วนการเก็บภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการเกษตรมีสัดส่วนภาษีเพียง 10% เพราะการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยเดิมเว้น 50 ล้านบาท จะทำให้มีคนเสียภาษีประมาณ 1% ของ 20 ล้านครัวเรือน เมื่อลดการเว้นภาษีเหลือ 20 ล้านบาท ผู้เสียภาษี ก็เพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 2%

รมช.คลัง กล่าวว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทรวงการคลังเร่งผลักดันให้ผ่านการพิจารณาของ สนช.แล้ว ยังมีร่างกฎหมายการเงินการคลังอีกหลายฉบับที่ต้องเร่งผลักดันเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ หรือเนชั่นแนลอี-เพย์เมนต์ ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญของประเทศในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการ ส่งผ่านราคาต่ำกว่าเป็นจริงของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญของกรมสรรพากร กำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระแรก ซึ่งเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการ รั่วไหลลดลง