posttoday

ธ.ก.ส.หนุนธนาคารต้นไม้ "เพิ่มหลักประกันทางธุรกิจ"

30 กรกฎาคม 2561

ธ.ก.ส.พร้อมให้นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าสู่สินเชื่อเพื่อขยายการทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น

ธ.ก.ส.พร้อมให้นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าสู่สินเชื่อเพื่อขยายการทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น

********************************

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.อุบลราชธานี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ เพื่อผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อการออมและการสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจ โดยให้นำต้นไม้ที่มีมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 58 ชนิด เช่น สัก พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า แดง เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลยาง มะขามป้อม ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลจำปี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ หว้า จามจุรี กฤษณา และไม้หอม ฯลฯ เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานของภาครัฐที่ผลักดันเรื่อง “ธนาคารต้นไม้” พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจอย่างเต็มที่ และเมื่อร่างดังกล่าวผ่านขั้นตอนของการพิจารณาออกเป็นประกาศ หรือกฎกระทรวง เรียบร้อยแล้ว ธ.ก.ส.ก็พร้อมรับลูกในการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อทันที ซึ่งจะช่วยให้มีประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรเข้าสู่สินเชื่อเพื่อไปขยายการทำการเกษตรหรือประกอบธุรกิจการเกษตรได้ง่ายขึ้น

ธ.ก.ส.หนุนธนาคารต้นไม้ "เพิ่มหลักประกันทางธุรกิจ"

สุรชัย รัศมี ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เริ่มโครงการธนาคารต้นไม้มานานหลายสิบปี มีสมาชิก 6,804 ชุมชน มีต้นไม้ในโครงการมากกว่า 11.7 ล้านต้น มีการเริ่มทำโครงการนำร่องใน 7 สถาบันการเงินชุมชน ที่นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อในสถาบันการเงินชุมชนบ้างแล้วในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ให้กระบวนการของการรวมกลุ่มในการดูแลต้นไม้ที่เป็นหลักประกัน

ก่อนหน้านี้อุปสรรคข้อหนึ่งของการนำต้นไม้ที่มีมูลค่ามาเป็นหลักประกันคือ การปลูกไม้พวกนี้ก่อนปลูกก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ จะขอตัดก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ในเมื่อตัดต้นไม้ไม่ได้ การนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันก็ทำได้อยาก แต่ในความเป็นจริงต้นไม้เกือบทั้งหมดที่เข้าโครงการ ธนาคารไม่มีนโยบายให้ตัด เพราะต้องการส่งเสริมเรื่องป่าชุมชนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายหลักประกันธุรกิจ จะเสนอว่า ควรให้มีเกณฑ์ในการประเมินราคาหรือตีราคาที่ชัดเจน ว่า ต้นไม้ชนิดนี้ ความสูง เส้นรอบวงขนาดนี้จะมีมูลค่าเท่าไร และควรมีการตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตีราคา

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธ.ก.ส.ได้มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเรื่องการปล่อยสินเชื่อแล้วว่าจะปล่อยกู้ให้กี่เท่าของหลักประกัน เช่น ที่ดิน จะปล่อยกู้ให้ 50% ของหลักประกัน เงินฝากปล่อยกู้ให้ 90% ของหลักประกัน ในส่วนของ ต้นไม้ คาดว่าน่าจะปล่อยกู้ให้ 50% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน เพราะสามารถให้ชุมชนที่ดูแลต้นไม้ พัฒนาเป็นแหล่งคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการขายคาร์บอนเครดิต ได้ รวมทั้งศึกษาเรื่องการติดเครื่องจีพีเอสที่ต้นไม้ที่เป็นหลักประกัน

สำหรับ โครงการธนาคารต้นไม้ นั้นริเริ่มแนวคิดการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ใช้หนี้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดย ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกต้นไม้ตามแนวทางพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยลดพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยวลง แต่ยังคงรายได้เท่าเดิมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการปลูกพืช 7 กลุ่ม ประกอบด้วย พืชน้ำ พืชใต้ดิน พืชเรี่ยดิน พืชชั้นล่าง พืชชั้นกลาง พืชชั้นบน และพืชเถา ในที่ดินของตนเอง ทำให้ลดรายจ่ายภายในครัวเรือน สร้างรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี จากการจำหน่ายผลผลิตที่ได้

ธ.ก.ส.หนุนธนาคารต้นไม้ "เพิ่มหลักประกันทางธุรกิจ"