posttoday

แจงเก็บแวตอี-บิซิเนส คลังยันรีดภาษีเฉพาะผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์และเซอร์วิส

19 กรกฎาคม 2561

คลังคาดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศได้ปีละ 3000 ล้าน

คลังคาดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศได้ปีละ 3000 ล้าน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ หากมีรายได้ จากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 3,000 ล้านบาท

"ตอนนี้มีความเข้าใจผิดว่ากฎหมายดังกล่าวจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) จากการซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น มีการสั่งซื้อของผ่านอาลีบาบาและจะโดนเก็บภาษีแวตจากกฎหมายนี้ ซึ่งไม่ใช่ กฎหมายนี้จะเก็บภาษีแวตผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ" น.ส.กุลยา กล่าว

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ผู้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี เช่น การโฆษณา ดาวโหลดเกม ดาวโหลดสติ๊กเกอร์ สมัครสมาชิกทีวีออนไลน์ เป็นการเก็บภาษีแวตจากดิจิทัลคอนเทนต์ หรือดิจิทัลเซอร์วิส รวมถึงการให้บริการต่างๆ ที่มีการซื้อขายกันแต่มีการเก็บค่าบริการซื้อขายจากการซื้อสินค้านั้น ก็จะมีการเก็บภาษีแวตในส่วนของค่าบริการเท่านั้นไม่รวมถึงค่าสินค้า

นอกจากนี้ ยังมีการเขียนไว้ในกฎมาย ผู้ประกอบการฝั่งไทยที่ไปใช้บริการกับ ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ที่ไม่เสียภาษีแวตให้กับกรมสรรพากร รายจ่ายประเภทนี้จะหักเป็นภาษีซื้อและหักเป็นรายจ่ายเพื่อเสียภาษีนิติบุคคลไม่ได้

ปัจจุบันนี้มี 50 ประเทศ ที่เก็บภาษีแวตจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ และผู้ประกอบการรายใหญ่ 80-100 ราย ยอมเสียภาษีแวตตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่ออกมา เพราะบริษัทดังกล่าวอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมีการค้าขายทั่วโลก จึงไม่กล้าเสี่ยงเรื่องธรรมาภิบาล