posttoday

กดปุ่ม...กู้เงินผ่านแอพ

18 กรกฎาคม 2561

ปัจจุบันการกู้เงินสะดวกรวดเร็ว จะกู้เงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว อนุมัติเงินทันที

โดย...ชัตน์วรี,ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

เดี๋ยวนี้การกู้เงินสะดวกรวดเร็ว จะกู้เงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว อนุมัติเงินทันที

ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีการแข่งกันปล่อยกู้ผ่านระบบดิจิทัล หรือที่เรียกว่า "ดิจิทัลเลนดิ้ง" ถือว่าเป็นการฉีกรูปแบบการกู้เงินแบบเดิมๆ ที่ลูกค้าจะต้องเสียเวลาไปยื่นขอเงินกู้เงินกับสถาบันการเงิน ต้องเตรียมเอกสารมากมายและต้องไปยื่นขอเงินกู้ที่สาขาเท่านั้น

การกู้เงินผ่านระบบดิจิทัลหลักๆ ก็มี 2 แบบ คือ แบบแรก ลูกค้าสามารถกรอกความต้องการกู้เงินในระบบออนไลน์ของแต่ละธนาคาร หลังจากนั้นธนาคารซึ่งอาจจะเป็นคนหรือระบบไอทีวิเคราะห์สินเชื่อ และก็พิจารณาสินเชื่อหรือติดต่อมาว่าจะอนุมัติเงินกู้หรือไม่ แบบที่สอง ธนาคารจะใช้ระบบเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและนำเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าได้ทันที

มาส่องดูว่าตอนนี้มีธนาคารใดบ้างที่เปิดให้บริการกู้เงินผ่านดิจิทัลกันบ้าง

ธนาคารกสิกรไทย นับเป็นรายแรกที่ให้บริการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลแบบไม่ใช้คนเลย (เพียวดิจิทัลเลนดิ้ง) ปล่อยให้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และระบบอัตโนมัติรันตัวเองไป

โดยมีหัวใจหลักคือบิ๊กดาต้าฐานข้อมูลลูกค้าที่ถูกนำมาวิเคราะห์ หากเครื่องตรวจพบเป็น "ลูกค้าเครดิตดี-ที่ต้องการเงิน"ระบบจะยิงข้อเสนอสินเชื่อไปอะเลิร์ต บนโมบายแบงก์กิ้ง บอกวงเงิน ดอกเบี้ย ยอดผ่อนต่อเดือนเสร็จสรรพ หากกดยอมรับเงินเข้าบัญชีใน 10 วินาที

กสิกรไทยมีการให้สินเชื่อลูกค้าผ่านทางบนโทรศัพท์มือถือผ่านแอพ K PLUS โดยจะนำเสนอสินเชื่อเข้าไปในเมนู Life PLUS บนแอพพลิเคชั่น ลูกค้าสามารถคลิกเลือกข้อเสนอ (เงื่อนไขสินเชื่อ เช่น ดอกเบี้ย วงเงิน ฯลฯ) ต่อจากนั้นธนาคารพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อและส่งกลับมาที่ลูกค้า หากลูกค้าตกลงรับสินเชื่อ เงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 1 นาที โดยให้วงเงินกู้สูง 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ MRR บวก 3% ต่อปี สูงสุด MRR บวก 9% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้า

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการ สินเชื่อรายย่อยในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็อยู่ระหว่างการพัฒนา "ระบบดิจิทัลเลนดิ้ง" โดยคาดว่าจะเปิดตัวในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยกลุ่มเป้าหมายแรก คือ ลูกค้าในเครือกรุงศรี เพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว

เพียวดิจิทัลเลนดิ้งของกรุงศรี แตกต่าง กับธนาคารกสิกรไทย ไม่ได้เป็นการใช้เอไอยิงตรงสุ่มลูกค้า แต่ให้ลูกค้าที่ต้องการ ขอสินเชื่อสามารถทำรายการด้วยตัวเองและได้เงินอย่างรวดเร็ว โดยหลังบ้านไม่ใช้คนเลย แต่เป็นระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การรับใบสมัคร การวิเคราะห์ตัวตน (เควายซีใ) การประเมินความเสี่ยง ส่วนผู้บริโภคก็อัพโหลดหลักฐานสมัครสินเชื่อเข้าระบบ และรอรับโอนเงินเข้าบัญชี

ด้านไทยพาณิชย์ ก็ได้นำร่องให้บริการ "SCB Easy Digital Lending" สินเชื่อผ่านมือถือ...เงินด่วนแค่ปลายนิ้วผ่านโมบายแบงก์กิ้งแอพพลิเคชั่น SCB EASY โดยที่ลูกค้าไม่ต้องมายื่นเอกสารหรือกรอกข้อมูลใดๆ ที่สาขา เพื่อให้การอนุมัติสินเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าทันทีภายใน 3 นาที

3 ขั้นตอนยื่นขอกู้ ได้แก่ 1.จากหน้าหลักคลิกเข้าไปที่สินเชื่อและบัตรเครดิต (Loan & Credit Card) จากนั้นเลือกประเภทสินเชื่อที่ต้องการ โดยระบบจะแสดงวงเงินสูงสุดที่จะได้รับ  2.เลือกความต้องการเกี่ยวกับบริการที่ขอ เช่น เลือกวงเงินที่ต้องการ วิธีการชำระเงิน บัญชีรับเงินกู้ เป็นต้น 3.หลังจากตรวจสอบความถูกต้องและยอมรับเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ระบบจะให้ยืนยันการสมัครด้วย PIN 6 หลัก หรือสแกนลายนิ้วมือ กรณีตั้งไว้สำหรับใช้ยืนยันตัวตน และระบบจะอนุมัติบัตรหรือโอนเงินกู้เข้าบัญชี (กรณีขอ สินเชื่อบุคคล) ภายใน 3 นาที

กดปุ่ม...กู้เงินผ่านแอพ

พีทูพีเลนดิง

นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของ ผู้ที่ต้องการกู้เงินผ่านระบบดิจิทัลเช่นกัน การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือ Peer-to-Peer (P2P) Lending

พีทูพีเลนดิ้ง คือแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมระหว่างบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เปรียบเสมือนสถานที่นัดพบออนไลน์และจับคู่ระหว่างนักลงทุน (ผู้มีเงินออม) กับผู้ขอกู้ (ผู้ต้องการเงินทุน) โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้แพลตฟอร์ม P2P Lending ในไทย 4-5 ราย เริ่มเปิดให้บริการแล้ว แต่ยังอยู่ในวงจำกัด

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การกู้เงินแบบ P2P Lending "อัตราดอกเบี้ย" และ "เงื่อนไข" จะดีกว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน

สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานของ P2P Lending นั้นมี 6 ขั้นตอนหลัก เริ่มตั้งแต่การยื่นใบคำขอกู้ยืมเงิน ตอบรับคำขอ ตรวจสอบเครดิต พิจารณาอนุมัติ ส่งมอบเงิน และบริหารจัดการเงินกู้ โดยฟินเทคสตาร์ทอัพจะสร้างอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม เช่น แอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์เพื่อเชื่อมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนบนแพลตฟอร์มเสียก่อน

สำหรับผู้กู้ต้องกรอกรายละเอียดจำนวนเงินที่ต้องการกู้ รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน และระยะเวลาในการกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ เครดิตของผู้กู้ และความสามารถในการ ชำระหนี้จากข้อมูลที่ให้มาตอนลงทะเบียน ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลาสั้นกว่าธนาคาร ก่อนที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้ปล่อยกู้พิจารณา

โดยใช้เวลาการพิจารณาคำขอและอนุมัติสินเชื่อประมาณ 5 วัน ส่วนขั้นตอนการทำสัญญาและโอนเงินจากผู้ให้กู้ไปยังผู้กู้ รวมถึงการทำสัญญาและติดตามการชำระหนี้ระหว่างทั้งสองฝ่ายจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย

ด้วยรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำP2P Lending จะดึงดูดกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุมัติ สินเชื่อจากธนาคาร เพราะเครดิตหรือ หลักประกันไม่ผ่านเงื่อนไขของแบงก์

นอกจากนี้ ในมุมของนักลงทุน P2P Lending ยังให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าเงินฝาก โดยข้อมูลล่าสุดจากผู้ให้บริการ P2P Lending รายใหญ่ของสหรัฐ ระบุว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของผู้ปล่อยเงินกู้อยู่ที่ 5.2-8.2% ตามแต่เกรดของ สินเชื่อ ในส่วนฟินเทคสตาร์ทอัพเองก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมดอกเบี้ยเงินกู้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดเงินปล่อยกู้สำหรับสินเชื่อธุรกิจผ่าน แพลตฟอร์มในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1,000-1,500 ล้านบาท และคาดว่า หลังจากที่ ธปท. และ ก.ล.ต. ประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่ชัดเจน ประกอบกับระบบจัดการด้านเครดิต ของแพลตฟอร์มได้รับการพัฒนามาระยะหนึ่ง ก็คาดว่าคงจะเห็นทิศทางอนาคต P2P Lending ในไทยที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในมิติของฐานลูกค้าที่น่าจะกว้างขึ้น